เตือนเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนโดยเฉพาะภาคใต้ เฝ้าระวังการระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนซึ่งแมลงศัตรูที่สำคัญของทุเรียน เนื่องจากทุเรียนอยู่ในระยะของการพัฒนาผล การเข้าทำลายของหนอนเจาะเมล็ดส่งผลเสียต่อผลผลิตทุเรียนทำให้เนื้อทุเรียนเสียคุณภาพ
ดังนั้นเกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ หากพบการระบาดให้ดำเนินการหาแนวทางควบคุมและป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง หนอนชนิดนี้เมื่อเข้าทำลายผลทุเรียนจะไม่สามารถสังเกตจากภายนอกได้ หนอนที่เจาะเข้าไปในผลทุเรียนถ่ายมูลออกมาปะปนอยู่กับเนื้อทุเรียนทำให้เนื้อทุเรียนเสียคุณภาพ เกษตรกรไม่สามารถขายเนื้อทุเรียนสดได้ ต้องนำไปแปรรูปซึ่งราคาต่ำทำให้สูญเสียรายได้ไปมาก จนกระทั่งเมื่อหนอนโตเต็มที่พร้อมเข้าดักแด้ จะเจาะเปลือกเป็นรูออกมาและทิ้งตัวลงบนพื้นดินเพื่อเข้าดักแด้ในดิน เกษตรกรเห็นแต่รูไม่พบตัวหนอนอยู่ภายในหรือบางครั้งพบความเสียหายเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตเรียบร้อยแล้ว หลังจากหนอนเจาะออกมาจึงเรียกหนอนชนิดนี้อีกชื่อว่า “หนอนรู”
ตัวเต็มวัยวางไข่เป็นฟองเดี่ยวบนผลทุเรียนช่วงที่ผลยังอ่อน จากนั้นตัวหนอนที่เพิ่งฟักจากไข่จะเจาะเข้าไปกัดกินเมล็ดภายในผล การเข้าทำลายจะสังเกตรอยเจาะของหนอนได้ยากเนื่องจากมีขนาดเล็กมากและเปลือกทุเรียนที่กำลังขยายจะปิดรูเจาะของหนอน ทุเรียนที่ถูกทำลายส่วนใหญ่อยู่ในระยะที่เมล็ดแข็งแล้ว การทำลายของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนจะเจาะเข้าไปในเมล็ด กัดกินและถ่ายมูลออกมาทำให้เนื้อทุเรียนเปรอะเปื้อนเสียหาย หนอนอาศัยอยู่ในผลทุเรียนจนกระทั่งผลแก่ เมื่อหนอนโตเต็มที่หรือถ้าผลร่วงก่อนหนอนจะเจาะรูกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ออกมา และเข้าดักแด้ในดิน
วิธีการป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน
1.ใช้กับดักแสงไฟ โดยใช้หลอดแบล๊คไลท์ (black light) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือตรวจการระบาดของแมลง เมื่อตรวจพบผีเสื้อตัวแรกในกับดักแสงไฟ ให้ฉีดพ่นสารฆ่าแมลงทันที
2.เก็บดักแด้ออกมาทำลาย ซึ่งดักแด้ของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน จะอยู่ในดินลึก 10-15 ซม.โดยจะฝังตัวบริเวณโคนต้น และมีเศษดินพอก ห่อตัวดักแด้อยู่
3.ใช้สารกำจัดแมลงพ่นคลุมดินเพื่อกำจัดผีเสื้อที่พึ่งออกจากดักแด้ เมื่อฝนตกหนักดินมีความชื้น
– ฟิโพรนิล 5% W/V SC อัตรา 600 ซีซี/ไร่ หรือ ใช้ 25 ซีซี ในพื้นที่ใต้ทรงพุ่ม 8 เมตร โดยผสมน้ำพ่นให้ทั่วบริเวณที่กำหนดไว้จนตัวยาหมด (24 ต้น)
– หว่านฟิโพรนิล 0.3%GR อัตรา 1 กก./ไร่ หรือ 40 กรัม ต่อพื้นที่ใต้ทรงพุ่ม 8 เมตร แล้วรดน้ำให้ตัวยาละลาย
4.ทำเหยื่อพิษ โดยใช้กากน้ำตาล 20 ซีซี (3 ช้อนโต๊ะ) ผสมน้ำ 250 ซีซี และคาร์บาริล 85% WP อัตรา 2 กรัม (1 ช้อนชา) คนให้เป็นเนื้อเดียวกัน แขวนไว้ตามต้น สูงจากพื้นดิน 1 เมตร ล่อให้ตัวเต็มวัยมากิน แล้วเปลี่ยนเหยื่อพิษทุก 14 วัน
5.ใช้สารกำจัดแมลง เมื่อพบตัวเต็มวัยในกับดักแสงไฟ หรือพ่นตั้งแต่ผลทุเรียนมีอายุ 6 สัปดาห์
– ไซเพอร์เมทริน/โฟวาโลน (พาร์ซอน 6.25% /22.5% อีซี) อัตรา 40 มิลลิลิตร
– ไดอะซินอน 60% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
– คาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
– แลมบ์ดาไซฮาโลทริน 2.5% ซีเอส อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
– เดลทาเมทริน 3% อีซี อัตรา 20 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร
– อิมาเมกตินเบนโซเอท 1.92% อีซี อัตรา 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร โดยเลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่ง ห่างกัน 7 -14 วัน
6.เก็บผลผลิตที่ถูกหนอนเจาะเมล็ดเข้าทำลาย ออกไปทำลายนอกแปลง
7.ตัดแต่งทรงต้นทุเรียน ไม่ให้สูงเกินไป เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการแปลง
8.เกษตรกรไม่ควรขนย้ายเมล็ดทุเรียนจากที่อื่นเข้ามาในแหล่งปลูก ถ้าจำเป็นควรทำการคัดเลือกเมล็ดอย่างระมัดระวัง หรือแช่เมล็ดทุเรียนด้วยสารฆ่าแมลง เช่น มาลาไทออน 83% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์บาริล85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร ก่อนทำการขนย้ายจะช่วยกำจัดหนอนได้