กรมประมง ระดมสมองถก (ร่าง) นโยบายและแผนบริหารจัดการการประมง มุ่งเป้าพลิกฟื้นประมงไทย ให้กลับมาเป็นจ้าวสมุทร

652220

วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2567 ณ โรงแรมมารวย การ์เด้น บางเขน กรุงเทพฯ กรมประมงจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “การจัดทำนโยบายและแผนบริหารจัดการการประมง” (Problem and Solution Based) เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ข้อมูล ข้อคิดเห็น มุมมองและแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านการประมงกับทุกภาคส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคการประมง ทั้งภาครัฐ เอกชน และชาวประมง เพื่อนำข้อสรุปที่ได้มาประกอบการจัดทำนโยบายและแผนบริหารจัดการการประมงของประเทศ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เป็นประธานเปิดงานการจัดทำนโยบายและแผนฯ ในครั้งนี้ และได้รับเกียรติจาก ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) และที่ปรึกษาประธานคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ มาร่วมบรรยายพิเศษ โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการกว่า 200 คน จากสมาคมการประมง ผู้แทนชาวประมง ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ คณาจารย์จากภาคอุดมศึกษา และคณะผู้บริหาร คณะผู้เชี่ยวชาญ คณะที่ปรึกษากรมประมง เข้าร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในด้านการประมง

652221

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ กล่าวภายหลังการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “การจัดทำนโยบายและแผนบริหารจัดการการประมง” ว่า ภาคการประมง มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยในปี 2566 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคการประมง มีมูลค่ามากกว่า 126,000 ล้านบาท มีรายได้จากการส่งออกสินค้าประมงทั้งสิ้น จำนวน 211,285 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากกรมประมงและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานต่าง ๆ ทั้งการพัฒนาการผลิตและการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในธรรมชาติมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินภารกิจงานสอดรับกับอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย และกำกับการบริหารจัดการประมงของคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ จึงต้องมีกรอบ “นโยบายและแผนบริหารจัดการการประมง” ในการขับเคลื่อนในระยะต่อไป

652224

กรมประมงจึงได้จัดทำ (ร่าง) “นโยบายและแผนบริหารจัดการการประมง” เพื่อเร่งพัฒนาและแก้ไขปัญหาการประมงไทยใน 5 ด้าน ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี ดังนี้

652489

(1) ด้านการประมงน้ำจืด: โดยมีเป้าประสงค์ในการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำจืดพื้นถิ่นให้มีความอุดมสมบูรณ์ ชุมชนประมงมีความเข้มแข็ง และมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ภายใต้ปัญหาของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การรุกรานของสัตว์น้ำต่างถิ่นในแหล่งน้ำธรรมชาติ สัตว์น้ำพื้นเมืองหรือสัตว์น้ำประจำถิ่นมีแนวโน้มหายากและสูญพันธุ์ มูลค่าสัตว์น้ำจากการทำประมงน้ำจืดต่ำกว่าทุน ผลผลิตในแหล่งน้ำลดลง ฯลฯ

652490

(2) ด้านการประมงในน่านน้ำไทย: โดยมีเป้าประสงค์เพื่อให้ทรัพยากรประมงมีความอุดมสมบูรณ์ ชาวประมงจับสัตว์น้ำได้มากขึ้น ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายลดลง มีแรงงานประมงถูกกฎหมายเพียงพอรองรับในภาคการประมง ลดการกีดกันมาตรการทางการค้าของประเทศคู่ค้า ซึ่งจะต้องมีการเร่งแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับปัจจัยที่เอื้อให้เกิดศักยภาพทำการประมงที่เกินขีดความสามารถ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเผชิญมาตรการทางการค้าของประเทศคู่ค้า (IUU/CITES/MMPA และ SIMP) ต้นทุนการทำประมงที่สูงขึ้น ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่ต้องมีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ทดแทนให้มากขึ้น ราคาสัตว์น้ำตกต่ำ การบริโภคสัตว์น้ำก่อนวัยอันควร และการจัดระเบียบการใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย ต้องมีการพัฒนากระบวนการเก็บรักษาสัตว์น้ำเพื่อให้มีคุณภาพสูงขึ้นและขายได้ราคามากขึ้น ฯลฯ

652494

(3) ด้านการประมงนอกน่านน้ำไทย: โดยมีเป้าประสงค์ที่จะผลักดันให้ประเทศไทยมีกองเรือในพื้นที่ทำประมงนอกน่านน้ำเพิ่มขึ้นด้วยการเจรจารัฐชายฝั่ง (SIOFA/IOTC และ รัฐชายฝั่งอื่น)

238695


(4) ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ: โดยมีเป้าประสงค์ในการพัฒนาและส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อสร้างความสามารถในการผลิตสัตว์น้ำเศรษฐกิจ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดต้นทุนการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายความมั่นคงทางอาหาร เน้นการผลิตอาหารที่ปลอดภัย (Food Safety) การเลี้ยงสัตว์น้ำที่ช่วยกักเก็บ Carbon เพื่อพร้อมรับกับเทรนด์โลก เรื่อง Carbon Credit การส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์น้ำ GI ในแต่ละพื้นที่เพื่อสร้างมูลค่า ซึ่งจะต้องเร่งแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นวัตกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั้งในทะเลและน้ำจืดที่เต็มศักยภาพ ต้นทุนการผลิตสัตว์น้ำที่สูงขึ้น การขาดแคลนสัตว์น้ำพันธุ์ดีมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ การขาดแคลนหน่วยวิเคราะห์การเกิดโรคสัตว์น้ำ และปัญหาด้านการตลาดทั้งราคาสัตว์น้ำตกต่ำ การขาดอำนาจต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง มาตรการกีดกันทางการค้า

(5) ด้านอุตสาหกรรมต่อเนื่องการประมง: โดยมีเป้าประสงค์ให้สินค้าประมงของไทยมีคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน เป็นไปตามความต้องการของตลาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดสายการผลิต ผู้ประกอบการมีความเข้มแข็งและมีความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะต้องเร่งแก้ปัญหาทั้งในเรื่องของการปนเปื้อนการตกค้างที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานประเทศคู่ค้า ผลิตภัณฑ์ขาดความหลากหลายไม่ตรงความต้องการของตลาด วัตถุดิบสัตว์น้ำในประเทศไม่เพียงพอ และมีราคาสูงกว่าสัตว์น้ำนำเข้า รวมถึงข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้าสินค้า

สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในวันนี้ จะแบ่งออกเป็น 2 ภาค คือ ภาคการบรรยายพิเศษในช่วงเช้า จำนวน 2 เรื่อง คือ

– เรื่องที่ 1 : แนวทางการจัดทำนโยบายและแผนบริหารจัดการการประมงตามหลักการ Problem and Solution Based โดย ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี ปรึกษาประธานคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ

– เรื่องที่ 2 : ภาพรวมการจัดทำนโยบายและแผนบริหารจัดการการประมง โดย นางสาวสัมพันธ์ ปานจรัตน์ ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนพัฒนาการประมง กรมประมง

ส่วนในช่วงบ่ายมีการแบ่งกลุ่มเพื่อระดมประเด็นด้านการประมงสำหรับใช้ในการจัดทำนโยบายและแผนฯ ทั้ง 5 ด้าน ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้แสดงความคิดเห็นด้านการพัฒนา ปัญหาและความท้าทาย กำหนดแนวทางการวางนโยบายและแผนพัฒนาการประมง รวมถึงการจัดลำดับความสำคัญของการแก้ไขปัญหา เพื่อจะทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้ภายในกรอบระยะเวลาของแผน โดยเฉพาะการดำเนินการใน 2 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2569–2570) รวมถึงการเตรียมวางแนวทางในการจัดทำนโยบายและแผนบริหารจัดการการประมง ในระยะ 5 ปี ถัดไป (พ.ศ. 2571–2575) รวมถึงการจัดเรียงลำดับความสำคัญให้ครอบคลุมแนวทางการดำเนินการในช่วงเวลา 5 ปีของแผน และเป้าหมายในระยะยาวที่มีเป้าประสงค์ให้ทรัพยากรประมงเกิดความสมดุล ภาคการประมงของไทยเข้มแข็ง เศรษฐกิจการประมงของไทยเติบโตขึ้น อธิบดีฯ กล่าว