“อนุฯ กมธ.ปัญหาปลาหมอคางดำ” มีมติเชิญบริษัทเจริญโภคภัณฑ์มาชี้แจง 25 ก.ค.นี้ จ่อ ชงญัตติด่วนด้วยวาจา พร้อมตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาร่วมกัน ขอบริษัทเอกชนส่งตัวอย่างดินที่อ้างว่ามีการฝังกลบปลาเพื่อตรวจดีเอ็นเอ หากไม่ยอมพร้อมใช้กลไกทางกฎหมาย

วันที่ 19 ก.ค. 2567 ที่อาคารรัฐสภา นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.พรรคก้าวไกล ในฐานะรองคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย เปิดเผยว่าในการติดตามข้อเท็จจริง มีผลสรุปที่ชัดเจนมากขึ้น 1. การติดตามเอกสารการนำเข้าปลาชนิดนี้ ที่อธิบดีกรมประมงจะส่งสำเนามาให้คณะอนุและจะไปที่กรมประมงในวันที่ 23 ก.ค.นี้เพื่อไปติดตามดูห้องเก็บซากปลาและติดตามกระบวนการนำเข้าสัตว์จากต่างชาติมีมาตรการรัดกุมแค่ไหน 2. ข้อถกเถียง ข้อเท็จจริงการส่งออกปลาสายพันธุ์นี้ปี 2556 ถึง 2559 ซึ่งอธิบดีชี้แจงว่ามีการส่งออกปลาจริงใน 17 ประเทศทั่วโลก 230,000 ตัว โดยบริษัทเอกชน 11 บริษัท สันนิษฐานได้ว่าปลาชนิดนี้ไม่มีอยู่ในราชอาณาจักรไทยมาก่อน เจอครั้งแรกปี 2555 ที่กรมประมงได้รับก่อนที่จะแพร่ระบาดในคลองสาธารณะ และในช่วงนั้นไม่ได้ขึ้นทะเบียนปลาสายพันธุ์นี้เป็นปลาต้องห้าม

f883d9d4f1ec124161fd14d11ed6fd4f1721272973896

ทั้งนี้กระบวนการวิจัยเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะต้องส่งตัวอย่างซากปลา 50 ตัว โดยมีการเปิดรายงานของคณะกรรมการ IBC ปี 2553 ระบุเงื่อนไขการอนุญาต 4 ข้อ ซึ่งหากเอกชนรับอนุญาตนำเข้าต้องทำตามเงื่อนไข4ข้อ คือต้องส่งตัวอย่างครีบปลาก่อนการวิจัย ที่ประชุมคณะอนุจึงมีมติทำหนังสือถึงบริษัทเอกชน บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร ให้เข้ามาชี้แจงต่อกรรมาธิการในวันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงว่าได้ดำเนินการตามเงื่อนไข 4 ข้อ หรือไม่ หากทำไม่ครบ4เงื่อนไขหมายความนำเข้าไม่ครบองค์ประกอบ

พร้อมกับชี้แจงเหตุผลที่สอบข้อเท็จจริง ว่าหากไม่มีกระบวนการที่รัดกุมในการนำเข้าปลาโดยเฉพาะปลาที่ทำลายต่อระบบนิเวศในอนาคตจะทำให้ไทยเจอเอเลี่ยนสปีชีส์อีกหลาย 100 สายพันธุ์ อีกส่วนหนึ่งจะได้รับทราบถึงดีเอ็นเอของปลาที่ระบาดตรงกับปลาที่นำเข้ามาของบริษัทเอกชนหรือไม่

ส่วนเรื่องการเอาผิดได้เชิญอุปนายกสมาคมทนายความ ให้ข้อเสนอแนะในข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในการทำผิดทางละเมิด เรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย โดยจะนำข้อมูลจากกรรมาธิการไปประกอบการพิจารณาฟ้องร้องต่อไป ส่วนโทษที่ห้ามนำเข้าตามสายพันธุ์ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับกฎหมายฉบับเก่าอาจจะไม่รุนแรง หรือไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ โดยฝ่ายนิติบัญญัติจะนำไปพิจารณาแก้ไขต่อไป แต่การรับผิดชอบมีอยู่2 ทาง คือหนึ่งรับผิดชอบตามกฏหมายและสองการรับผิดชอบตามจิตสำนึก

ขณะเดียวกันข้อมูลเรื่องซากปลาระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐยังสวนทางกัน ซึ่งบริษัทเอกชนได้ยืนยันว่าได้ส่ง ซากปลามาให้ กรมประมงแล้ว ในขณะที่กรมประมงบอกไม่ได้รับ ดังนั้นหากภาคเอกชนส่งแล้วจะต้องมีเอกสาร หรือภาพถ่ายยืนยัน โดยในวันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคมจะพูดคุยรายละเอียดกับภาคเอกชน ถึงแนวทางการนำตัวอย่างดินที่อ้างอิงว่ามีการฝังกลบปลาเพื่อมาตรวจดีเอ็นเอปลา หากไม่อนุญาตก็จะใช้วิธีการทางกฎหมาย พร้อมกับตั้งข้อสังเกตเหตุใดโครงการดำเนินการระยะสั้นเพียง 10 วันและล้มเลิกไปเฉยๆ

“ ในสัปดาห์หน้าเราได้มีการพูดคุยกันในหลายภาคส่วน สส. ในหลายพื้นที่ และในฐานะ สส. ได้เรียนประธานวิป ฝ่ายค้านต้องการนำเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาในสัปดาห์หน้า วันพฤหัสบดีเพื่อตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเพื่อเชิญฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาลมาร่วมทำงานเรื่องนี้อย่างจริงจัง รวมถึงภาคเอกชน เพราะว่าเรื่องนี้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และนายกรัฐมนตรีได้หยิบยกเป็นวาระแห่งชาติ” นายณัฐชากล่าว