กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศโฆษณาการรับขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI )I “กระท้อนทองใบใหญ่บางเจ้าฉ่า” หรือ Thong Bai Yai Bang Chao Cha Santol หรือ Kra Thon Thong Bai Yai Bang Chao Cha เมื่อ 15 กรกฎาคม 2567 โดยผู้ที่ยื่นคำขอได้แก่ จังหวัดอ่างทองทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอขึ้นทะเบียน 27 กรกฎาคม 2566
สำหรับกระท้อนทองใบใหญ่บางเจ้าฉ่า มีลักษณะผลค่อนข้างกลม ขั้วผลนูนเล็กน้อย เปลือกบาง ผิวนอกไม่เรียบ ผลสุกสีเหลืองทอง เนื้อหนานุ่ม ฉ่ำ เนื้อและปุยเมล็ดมีรสชาติหวานฉ่ำ กลิ่นหอมหวาน ปลูกในพื้นที่อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง การเก็บเกี่ยวจะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนมิถุนายน ถึงเดือนกรกฎาคมของทุกปี
ประวัติความเป็นมา
กระท้อนพันธุ์ทองใบใหญ่ เริ่มเพาะปลูกในปี พ.ศ. 2515 โดยนายมณี ซองธูป อดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 ตำบลบางเจ้าฉ่า ได้นำพันธุ์กระท้อนทองใบใหญ่จากจังหวัดนนทบุรี มาปลูกในบริเวณบ้านริมฝั่งแม่น้ำน้อย ได้ผลผลิตดี ลูกใหญ่ ผลสุกผิวสีเหลืองทอง เนื้อหนานุ่ม ฉ่ำ หวานชื่นใจ จึงมีการนำไปเพาะปลูกกันอย่างแพร่หลายในตำบลบางเจ้าฉ่า จนได้ชื่อว่า “กระท้อนทองใบใหญ่บางเจ้าฉ่า” และขยายไปปลูกยังตำบลใกล้เคียงในอำเภอโพธิ์ทองสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในชุมชน
โดยเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2550 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินทรงปลูกต้นกระท้อนพันธุ์ทองใบใหญ่ บริเวณวัดยางทอง ตำบลบางเจ้าฉ่า อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง สร้างความปลาบปลื้มใจแก่เกษตรกรตำบลบางเจ้าฉ่า และตำบลใกล้เคียง รวมทั้งสร้างขวัญและกำลังใจให้เกษตรกรได้ดำรงรักษาพันธุ์กระท้อนทองใบใหญ่บางเจ้าฉ่า จนเป็นที่นิยมในปัจจุบัน และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดอ่างทองได้ขึ้นทะเบียนเป็นต้นไม้ทรงปลูก ลำดับที่ 27
เมื่อถึงฤดูมีผลผลิตเกษตรกรชาวสวนจะนำกระท้อนทองใบใหญ่บางเจ้าฉ่า ที่มีรสชาติหวานนุ่ม เนื้อเยอะรสชาติอร่อย ออกมาวางจำหน่าย บริเวณหน้าวัดยางทอง ตำบลบางเจ้าฉ่า อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง มาหลายสิบปีสร้างรายได้ให้กับเจ้าของสวนเป็นอย่างมาก
ในปี พ.ศ. 2558 กระท้อนทองใบใหญ่บางเจ้าฉ่าได้รับรางวัลชนะเลิศด้านรสชาติอันดับ 1 ของจังหวัดอ่างทอง นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2560 ได้มีการจัดงาน “มหกรรม กิน-เที่ยว-พักบ้านบางเจ้าฉ่า” ซึ่งเป็นกิจกรรมส่งเสริมหมู่บ้าน OTOP เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวได้กินกระท้อนพระราชทาน พันธุ์ทองใบใหญ่
และในปี พ.ศ. 2565 จังหวัดอ่างทองได้จัดงานมหกรรมกระท้อนทองใบใหญ่ทรงปลูก ภายในงานมีกิจกรรมขยายพันธุ์กระท้อนทองใบใหญ่ทรงปลูก การแปรรูปและการประกอบอาหารจากกระท้อน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเผยแพร่ผลผลิตกระท้อนให้อยู่ในความนิยมของตลาด อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกษตรกรเห็นถึงความสำคัญของการปลูกกระท้อน และร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรการท่องเที่ยวเชิงเกษตรไว้อย่างยั่งยืน
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกระท้อนทองใบใหญ่ตำบลบางเจ้าฉ่า มีความประสงค์จะทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายกระท้อนทองใบใหญ่บางเจ้าฉ่า เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กอปรกับภาพที่ปรากฎในพิพิธภัณฑ์ภาพถ่ายพระราชาภิเษกจังหวัดอ่างทอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนิน ณ วัดยางทอง อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง และทรงปลูกต้นกระท้อนพันธุ์ทองใบใหญ่ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ปีพุทธศักราช 2550