นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาการระบาดของปลาหมอสีคางดำซึ่งเป็นสัตว์น้ำรุกรานต่างถิ่นถือว่า วิกฤติมาก โดยการระบาดเกิดขึ้นมานานถึง 14 ปีเป็นภัยเงียบที่ทำลายสัตว์น้ำวัยอ่อนตามแนวชายฝั่ง รวมถึงรุกรานเข้าไปยังแหล่งน้ำต่างๆ กินสัตว์น้ำวัยอ่อนไปจนหมด
สมาคมประมงแห่งประเทศไทยเห็นว่า จะต้องยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ ดำเนินการโดยรัฐบาลซึ่งนายกรัฐมนตรีควรมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธารคณะกรรมการแก้ไขปัญหา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นรองประธาน อธิบดีกรมประมงเป็นเลขานุการ เพื่อให้สามารถบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องข้ามกระทรวงได้ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงจังหวัดซึ่งขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย การดำเนินการดังกล่าว จะทำให้มีหน่วยงานอื่นมาสนับสนุนกรมประมง ตลอดจนจะมีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนและไม่ต่างคนต่างทำในแต่ละจังหวัด
กรมประมงต้องเป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดแผนและแนวทาง วิธีการในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งอาจต้องใช้แนวทางทางการทหารมาช่วยในการวางแผน นอกจากนี้ยังสมควรออกประกาศกฎหมายผ่อนผันให้ชาวประมงสามารถใช้เครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพสูงมาจับปลาหมอคางดำในแม่น้ำ ลำคลอง และชายฝั่ง จนเมื่อจำนวนปลาหมอคางดำลดลงจึงค่อยใช้เครื่องมืออื่นเก็บกวาด
จากนั้นจึงค่อยปล่อยปลานักล่าประเภทอื่นๆ เพื่อให้ไปกินลูกปลาหมอคางดำที่อาจหลงเหลืออยู่บ้าง หากรีบปล่อยปลานักล่าไป ในขณะที่ปลาหมอคางดำยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก จะไม่สามารถกำจัดได้อย่างสัมฤทธิผลเป็นการสูญเงินเปล่า
ล่าสุดนายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมงเตรียมแถลงถึงมาตรการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำซึ่งขณะนี้พบการระบาดใน 14 จังหวัดซึ่งรวมถึงกรุงเทพมหานครด้วย โดยมาตรการสำคัญคือ การเร่งเดินหน้าโครงการวิจัยด้านพันธุศาสตร์เพื่อปล่อยปลาหมอคางดำซึ่งมีชุดโครโมโซมพิเศษที่เป็นหมันไปผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำในธรรมชาติเพื่อให้ได้ลูกที่เป็นหมันซึ่งเชื่อว่า เป็นวิธีกำจัดที่ได้ผล จะควบคุมการระบาดของ Alien Species ได้ภายใน 3 ปี ตั้งเป้าหมายปล่อยปลาโครโมโซมหมันชุดแรกในเดือนธันวาคม 2567 ตลอดจนเร่งรณรงค์การจับมาใช้ประโยชน์ โดยยืนยันว่า ปลาหมอคางดำไม่เป็นพิษ รับประทานได้ รสชาติอร่อยกว่าปลานิล