นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดอาคารนวัตกรรม เปรม ชินวันทนานนท์ มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัย นวัตกรรมสมุนไพร สอดรับกับนโยบาย IGNITE THAILAND ของรัฐบาล เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งล่าสุดได้ทำการวิจัยต่อยอดผลิตภัณฑ์มะระขี้นก เพื่อผลักดันส่งออกสู่ตลาดโลก รวมทั้งศึกษาวิจัยตำรับสมุนไพรเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ป่วยในการรักษา
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้สร้างอาคารนวัตกรรม เปรม ชินวันทนานนท์ นี้เพื่อเป็นสถานที่วิจัยและพัฒนา ตลอดจนสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับสมุนไพร ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ป่วยแล้ว ยังสร้างโอกาสให้กับเครือข่ายนักวิจัย ตลอดจนกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตวัตถุดิบสมุนไพร ที่มีส่วนช่วยยกระดับการพัฒนาสมุนไพรไทยให้แข่งขันได้ในตลาดสากล
นอกจากนี้ขอฝากคนไทย ช่วยสนับสนุนการใช้สมุนไพรภายในประเทศตามแนวคิด “เจ็บป่วยคราใด ใช้ยาไทย ก่อนไปหาหมอ” เพื่อกระตุ้นให้คนไทยใช้สมุนไพรเสริมการรักษาแผนปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการนำเข้าวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศ
รมว.สาธารณสุข กล่าวอีกว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมพระศรีสวางควัฒน เสด็จฯ เป็นองค์ประธานเปิดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 21 ที่เมืองทองธานี พระองค์มีพระราชดำรัสถึงประโยชน์ของสมุนไพรว่ามีความจำเป็นในยามที่เกิดวิกฤตการณ์ของโลก ซึ่งหากเราต้องพึ่งพายาจากต่างประเทศอย่างเดียว เราจะลำบาก หากเราสามารถพัฒนายาของเราเองได้ก็จะมีประโยชน์ต่อประเทศชาติ ซึ่งตนก็รับใส่เกล้าและน้อมนำมาปฏิบัติ โดยเริ่มจากการเพิ่มงบประมาณการผลิตสมุนไพรเพิ่มอีก 50% จากเดิม 1,000 ล้าน เป็น 1,500 ล้าน ซึ่งเมื่อเทียบกับการนำเข้ายาเคมีจากต่างประเทศที่สูงถึงปีละ 70,000 ล้านบาทก็ยังห่างไกลกันมาก และหากมีการพัฒนายาไทยเพิ่มมากขึ้น ตนก็จะขอเพิ่มวงเงินงบประมาณให้อีกในโอกาสต่อไป
รมว.สาธารณสุข กล่าวด้วยว่า ตนอยากให้กระทรวงสาธารณสุขช่วยรณรงค์ในการพัฒนาสมุนไพรไทย “1 จังหวัด 1 ตัวยาสมุนไพร” เนื่องจากวันนี้ดูจากตำรับยาที่ผ่านการรับรองจาก อย. 77,300 รายการ มียาแพทย์แผนไทยที่อยู่ในบัญชียาหลักน้อยมาก ซึ่งเราจะทำอย่างไรให้เกิดการยอมรับในสมุนไพรมากขึ้น แน่นอนว่าการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานด้วยงานวิจัยและพัฒนา เพื่อพิสูจน์ให้เขาเห็นถึงประโยชน์ในทางการรักษา ก็จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในยาสมุนไพรได้ จึงอยากให้เพิ่มการใช้สมุนไพร 50% ควบคู่ไปกับการใช้ยาแผนปัจจุบัน และสิ่งที่จะส่งเสริมต่อไปคือประชาชนสามารถปลูกหรือผลิตยาเองได้ ” รมว.สาธารสุข กล่าว
นอกจากนี้ รมว.สาธารณสุข ยังย้ำด้วยว่า โดยส่วนตัวเชื่อมั่นในสมุนไพรไทย และเคยเจอประสบการณ์ครั้งสำคัญ คือช่วงวิกฤติโควิด 19 ในขณะที่ทั่วโลกไม่มียาและวัคซีน ตนเป็น รมว.ยุติธรรม ต้องดูแลนักโทษ 360,000 คน ก็ได้ฟ้าทะลายโจรของอภัยภูเบศร ช่วยชีวิตพวกเขาไว้
“สมุนไพรอีกตัว คือกัญชา ซึ่งวันนี้ยืนยันว่า เราไม่ได้ปิดกั้นการใช้ แต่ให้ใช้อยู่ในการดูแลของแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย หรือแพทย์ทางเลือก ก็ตาม เดี๋ยวเราจะเขียนไว้ให้ชัดเจนว่า ไม่สนับสนุนให้ใช้ในทางสันทนาการ จริง ๆ แล้วกระทรวงสาธารณสุข กับ กลุ่มผู้คัดค้านการนำกัญชาสู่ยาเสพติด เรามีวัตถุประสงค์ตรงกัน แต่พูดกันไปมา ก็เลยทำให้เกิดการเข้าใจผิดและแบ่งขึ้นกันไป เช่นเดียวกับกระท่อมที่อยู่ในบัญชียาเสพติดมาถึง 78 ปี เนื่องจากคนนำไปใช้ในการเลิกฝิ่นและรัฐบาลในสมัยนั้น ต้องการปราบฝิ่น จึงให้อยู่ในบัญชียาเสพติดไปด้วยกัน ซึ่งจริง ๆ แล้วกระท่อมมีประโยชน์มากโดยเฉพาะมีสรรพคุณเป็นยาชาได้ดีกว่ามอร์ฟีน ก็ขอฝากให้มีการวิจัยสมุนไพร 3 ชนิดคือ กัญชา กระท่อม เถาวัลย์เปรียง ว่าสามารถรักษาคนติดยาบ้าได้หรือไม่ ถ้าได้ก็จะเป็นประโยชน์มาก” นายสมศักดิ์ กล่าว
นายสมศักดิ์ ยังได้หยิบยกประสบการณ์ส่วนตัว ที่เพื่อนเสียชีวิตไป โดยที่ตนไม่ได้บอกว่า มีสูตรยารักษามะเร็งจากใบมะละกอ โดยสามารถทำยาใช้ได้เองโดยการสับใบมะละกอใส่หม้อเคี่ยวให้เหลือ 50% ทิ้งไว้ให้เย็นแล้วกรองน้ำแล้วนำมาดื่ม หลายคนหายทั้งมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ มะเร็งปอด ฯลฯ แต่เนื่องจากมะเร็งมีหลายสายพันธุ์เราจึงไม่สามารถรับรองได้ จึงอยากฝากอภัยภูเบศร ช่วยวิจัยต่อยอด เพื่อจดสิทธิบัตรเป็นสมบัติของแผ่นดินต่อไป
จากนั้น นายสมศักดิ์ ได้เดินชมบูธนิทรรศกาลที่นำเสนอสมุนไพรที่อภัยภูเบศรได้วิจัยพัฒนาจนได้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ตำรับกลีบบัวแดง ในผู้ป่วยที่มีภาวะความจำบกพร่อง อภัยเมาท์สเปรย์ ยาพ่นคอฟ้าทะลายโจร กระชายต้านโควิด เพชรสังฆาตกับภาวะกระดูกพรุน ตำรับยารักษาสะเก็ดเงิน และ งานวิจัย มัสคูลสเปรย์ จากกระดูกไก่ดำ เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรให้กับประชาชนด้วย ซึ่ง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข การันตีด้วยตัวเองว่า ใช้ดีจริง เนื่องจากได้ทดลองใช้ด้วยตัวเอง ซึ่งนายสมศักดิ์ ก็ได้เสนอว่าให้เป็นผลิตภัณฑ์เด่นของ รพ.อภัยภูเบศร และให้ปลัดส่งเสริมให้นำมัสคูลสเปรย์ ไปใช้ในโรงพยาบาล เสริมการรักษากับแผนปัจจุบัน
ด้าน พญ.ชนิดา สยุมภูรุจินันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และประธานมูลนิธิอภัยภูเบศร กล่าวว่า ในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสมุนไพร ได้นำองค์ความรู้ภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านและชุมชน มาทวนสอบความถูกต้องตามหลักวิชาการและเก็บเป็นฐานข้อมูล เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และนำมาใช้ในโรงพยาบาล ภายใต้การดูแลของแพทย์ แพทย์แผนไทย และเภสัชกร อย่างเป็นระบบ จนมั่นใจในประสิทธิผลและความปลอดภัย ก่อนส่งต่อให้มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรฯ นำไปศึกษาวิจัยต่ออย่างเต็มรูปแบบ ทั้งการศึกษาขนาดของยาที่เหมาะสม ความคงสภาพ การวิจัยในสัตว์ทดลองและในคนตามมาตรฐานการวิจัย โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยเครือข่าย เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จนกระทั่งสามารถส่งผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้
สำหรับโรงพยาบาลและมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร มีนักวิจัย เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพรเครือข่ายอภัยภูเบศร มากกว่า 700 ราย ที่มีส่วนในการช่วยยกระดับสมุนไพรไทยให้มีมาตรฐาน โดยมีมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ขับเคลื่อนด้านงานวิจัย ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาวิจัยตำรับสมุนไพรต่างๆ อาทิ ตำรับสมุนไพรกลีบบัวแดง ในผู้ป่วยที่มีภาวะความจำบกพร่อง เพชรสังฆาตกับภาวะกระดูกพรุน เป็นต้น ซึ่งเมื่อการวิจัยสำเร็จจะช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ป่วยในการรักษาได้ นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยต่อยอดผลิตภัณฑ์มะระขี้นกในการนำมาใช้เป็นอาหารและยา รวมถึงผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่นๆ อีกหลายชนิดที่มีศักยภาพในการส่งออกสู่ตลาดโลกได้