หอการค้าฯจับมือ เกษตรพิษณุโลก-เพชรบูรณ์ – สุโขทัย มุ่งเป้ายกระดับ “เกษตรมูลค่าสูง”

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการนำคณะกรรมการหอการค้าฯ เดินทางเยี่ยมเยือนหอการค้าจังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ และสุโขทัย เพื่อรับฟังปัญหาและแนวทางการผลักดันเศรษฐกิจในพื้นที่ พร้อมกันนี้ ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เพื่อประสานความร่วมมือ และเชื่อมต่อการทำงานระหว่างภาครัฐและเอกชน ตามแนวทาง Connect the dots

นอกจากนี้ ยังได้จัดการประชุมแลกเปลี่ยนความเห็น “การขับเคลื่อนเกษตรไทยสู่เกษตรมูลค่าสูง” ร่วมกับ นายพยนต์ อัศวพิชยนต์ รองผู้ว่าฯจังหวัดพิษณุโลก นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ประธานหอการค้าจังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ทั้ง 3 จังหวัด ตลอดจนผู้ประกอบการในพื้นที่กว่า 60 คน

S 17326105
มุ่งเป้าเกษตรมูลค่าสูง

โดยมีข้อเสนอด้านการเกษตรที่สามารถต่อยอดและสร้างโอกาสในการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ ได้แก่ การส่งเสริมด้านการเกษตร โดยจังหวัดพิษณุโลกถือเป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงด้านการส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง รวมถึงทุเรียนบ้านแยง อ.นครไทย ที่กำลังเป็นที่นิยมทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนา Story Branding เพื่อทำให้เกิดความน่าสนใจในลักษณะเดียวกันกับการโปรโมททุเรียนภูเขาไฟของจังหวัดศรีสะเกษ ที่หอการค้าฯ ผลักดันจนได้มีชื่อเสียงในปัจจุบัน อีกทั้งยังมีโอกาสในการขยายตลาดไปสู่ประเทศกลุ่มตะวันออกกลาง (GCC) ที่ยังไม่ค่อยได้สัมผัสผลไม้ไทยโดยเฉพาะทุเรียนซึ่งตลาดดังกล่าวจะเป็นตลาดส่งออกใหม่ที่มีมูลค่าสูงแน่นอนในอนาคตอันใกล้

นอกจากนี้ ภาคเอกชนในพื้นที่ยังเห็นตรงกันว่าควรมีการขยายผล โครงการโคกหนองนาโมเดล ซึ่งปัจจุบันมีนายอำนาจ สงวนสิน เกษตรกรต้นแบบ นำโมเดลดังกล่าวไปขับเคลื่อน โดยเริ่มจากปรับพื้นที่นาข้าว จำนวน 15 ไร่ ปลูกข้าว 3 สายพันธุ์ ไม่ได้ใส่ปุ๋ยหรือสารเคมีใด ๆ เป็นการปลูกแบบธรรมชาติ ตลอดจนปรับเปลี่ยนการทำเกษตรเชิงเดี่ยวให้เป็นแปลงเกษตรผสมผสานตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยหลังจากนี้จะมีการขยายผลไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในจ.พิษณุโลก เพิ่มเติมอีกด้วย

ด้าน จ.สุโขทัย มีการเพาะปลูกละมุดอินทรีย์ (GI) ที่มีชื่อเสียงและมีการส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยอยู่ในเขต อ.ศรีสำโรง และ อ.สวรรคโลก ลักษณะเด่นคือมีรสชาติหวาน หอม กรอบ เป็นที่นิยมของตลาด โดยที่ผ่านมา เกษตรกรและภาควิชาการในพื้นที่มีการคัดเลือกและปรับปรุงสายพันธุ์ให้มีคุณภาพมาตรฐาน เป็นละมุดออร์แกนิก และมีการส่งออกไปในหลายประเทศ โดยหลังจากนี้หอการค้าฯ จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการศึกษาและวิจัยเพื่อการแปรรูปละมุดให้เป็นผลิตภัณฑ์หรือสินค้าอื่น ๆเพื่อเพิ่มมูลค่า (Value Added) ต่อไป

สำหรับ จ.เพชรบูรณ์ ที่มีชื่อเสียงด้านการปลูกกาแฟ และโกโก้ แต่ยังคงมีพื้นที่และผลผลิตที่น้อยอยู่ โดยมีพื้นที่ปลูกกาแฟประมาณ 1,050 ไร่ ผลผลิตรวม 237 ตัน/ปี ส่วนโกโก้ มีพื้นที่ปลูกประมาณ 434 ไร่ ผลผลิตรวม 596 ตัน/ปี ซึ่งหากสามารถนำต้นแบบของพื้นที่จังหวัดน่าน ที่หอการค้าไทยได้เข้าไปส่งเสริมตั้งแต่การเพาะปลูก (ต้นน้ำ) ปรับปรุงกระบวนการผลิต มีโรงงานแปรรูปที่ได้มาตรฐาน (กลางน้ำ) และการหาช่องทางการจัดจำหน่าย (ปลายน้ำ) จนประสบความสำเร็จ (Model Success) เชื่อว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจอีกหนึ่งชนิดที่ยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ได้มาก

ทั้งนี้ การเดินทางมารับฟังข้อเสนอแนะ รวมถึงหาแนวทางในการพัฒนาและยกระดับภาคการเกษตร ในพื้นที่ จ.พิษณุโลก สุโขทัย และเพชรบูรณ์ในครั้งนี้ หอการค้าฯ มองว่าผู้ประกอบการในพื้นที่ยังมีโอกาสที่จะยกระดับมาตรฐานด้านอาหารและการแปรรูปให้ดียิ่งขึ้น พร้อม ๆ กับการสร้างเรื่องราวของสินค้า เพื่อดึงดูดความน่าสนใจ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ได้เป็นอย่างมาก โดยหอการค้าฯ และภาคเอกชนในพื้นที่ พร้อมเข้าไปมีส่วนช่วยสนับสนุนและผลักดันในประเด็นต่าง ๆ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ข้อเสนอที่ได้จากผู้ประกอบการและเกษตรกรในพื้นที่เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป