ดีป้า เผยความคืบหน้าโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ประกาศศูนย์ซ่อมโดรนเพื่อการเกษตรเฟสแรก 35 แห่งทั่วประเทศ ตั้งเป้าอนุมัติครบ 50 ศูนย์ภายในเดือนกรกฎาคม 2567 เร่งเครื่องยกระดับชุมชนและเกษตรกรทั่วประเทศมีโดรนเกษตรใช้ บินได้ ซ่อมเป็น อัปสกิลช่างชุมชน สร้างงาน สร้างอาชีพใหม่ ขับเคลื่อนกลไกสร้างระบบนิเวศดิจิทัล เสริมแกร่งภาคการเกษตรไทยยั่งยืน
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ตามที่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) โดย ดีป้า ได้ดำเนิน โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศดิจิทัล ยกระดับชุมชนด้วยเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตรที่ผลิตในประเทศไทยและได้รับการรับรองมาตรฐาน dSURE มั่นใจโดรนปลอดภัย ตรงปกไม่โดนหลอก ควบคู่การพัฒนาความรู้และทักษะที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบินและการซ่อมบำรุงโดรนแก่เกษตรกรและชุมชนทั่วประเทศไทย ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านธุรกิจซ่อมบำรุงเดิมไปสู่ศูนย์ซ่อมโดรนเพื่อการเกษตร โดยตั้งเป้าหมายภายในระยะเวลา 1 ปี เกิดศูนย์ซ่อมโดรนเพื่อการเกษตรทั่วประเทศ 50 ศูนย์ เกิดการใช้งานโดรน 500 ชุมชน หรือกว่า 10,000 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรมรวมทั้งสิ้นกว่า 4 ล้านไร่
ปัจจุบัน ดีป้า ได้อนุมัติศูนย์ซ่อมโดรนเพื่อการเกษตร รวมทั้งสิ้น จำนวน 35 แห่ง ประกอบด้วย ภาคเหนือ จำนวน 8 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19 แห่ง ภาคกลางและภาคตะวันตก 5 แห่ง ภาคตะวันออก 2 แห่ง และภาคใต้ 1 แห่ง ทั้งนี้อยู่ระหว่างการเร่งพิจารณาอนุมัติศูนย์ซ่อมโดรนเพื่อการเกษตรจากกลุ่มชุมชนและช่างชุมชนให้ครบ 50 แห่งทั่วประเทศ ภายในเดือนกรกฎาคม 2567 เพื่อขับเคลื่อนศูนย์ซ่อมโดรนเพื่อการเกษตรให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโดรนในภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน ชุมชนบินได้ ซ่อมเป็น โดยศูนย์ซ่อมโดรนเพื่อการเกษตร 1 แห่ง จะรองรับการให้บริการชุมชนใกล้เคียงไม่น้อยกว่า 10 ชุมชน
นอกจากนี้ ยังเร่งดำเนินการจัดตั้งศูนย์พัฒนาทักษะการบิน การออกใบอนุญาต และการพัฒนาเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตร ที่เกิดการบูรณาการดำเนินงานร่วมกับเอกชน บริษัท พาวเวอร์ อโกรเทค (ประเทศไทย) จำกัด ผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล (depa Digital Infrastructure Fund for Private & Public Investment) เพื่อพัฒนาศูนย์ฝึกอบรมนักบินและช่างซ่อมบำรุง ออกใบรับรองเพื่อขอใบอนุญาตนักบินโดรนและให้บริการขึ้นทะเบียนโดรน 5 ศูนย์ ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ได้แก่ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น และอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี รวมถึงระบบ Academy and Licensing Platform และหลักสูตรฝึกอบรมโดรนที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยเพื่อรองรับการพัฒนาทักษะนักบินโดรนกว่า 1,500 คน และช่างซ่อมบำรุงโดรนไม่น้อยกว่า 100 คน ภายในระยะเวลา 3 ปี
“การดำเนินงานของศูนย์ซ่อมโดรนเพื่อการเกษตร ภายใต้โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) เป็นการเพิ่มขีดความสามารถและองค์ความรู้ด้านการซ่อมโดรนเพื่อการเกษตรให้ช่างในชุมชน เช่น ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า ช่างอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงผู้ที่มีความรู้ความชำนาญงานช่างอื่น ๆ สู่การเป็นช่างซ่อมโดรนเกษตรในชุมชน เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างโอกาสการเข้าถึงและพัฒนาทักษะดิจิทัล สร้างระบบนิเวศใหม่เพื่อยกระดับภาคเกษตรของไทยด้วยเทคโนโลยีโดรน ชุมชนบินได้ ซ่อมเป็น ตอบโจทย์การขับเคลื่อนชุมชนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลให้เข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว