รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ และ อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศักยภาพในการเติบโตของไทยมีขีดจำกัด การทะลายขีดจำกัดนี้จำเป็นต้องมีการปฏิรูปและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจทั้งมิติการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและมิติการสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำไปพร้อมกันการปฏิรูปและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจก็ยังไม่ใช่หลักประกันเพียงพอที่ทำให้อัตราการขยายทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในระยะยาว สำหรับไทยแล้ว การขจัดการแทรกแซงทางการเมืองด้วยอำนาจนอกวิถีทางประชาธิปไตยจะช่วยลดความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจและการลงทุนลงอย่างมาก ความมีเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยและการปฏิรูปการเมืองให้มีความมั่นคงและตอบสนองต่อผลประโยชน์ประชาชนมีความสำคัญ เสถียรภาพของระบบการเมืองและระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นพื้นฐานต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนในระยะยาว
อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเกิน 4% นั้นมีความเป็นไปได้หากปฏิรูปเศรษฐกิจสร้างฐานรายได้ใหม่ได้ตามเป้าหมาย การออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ Soft Loan ใหม่บวกการเร่งใช้จ่ายงบลงทุน งบประมาณปี 2567 ให้เบิกจ่ายในระดับ 70-75% จะช่วยขยับการลงทุนเอกชนปีนี้โตแตะ 3.5% ได้จากคาดการณ์ไว้เดิมที่ 3.2% การยืดการชำระหนี้สินเชื่อบ้านให้ยาวขึ้นโดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ บรรเทาหนี้ให้ประชาชนและเป็นการรักษาบ้านไม่ให้ถูกยึด ธนาคารรัฐนำร่องแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนแล้ว ฐานะของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบแข็งแกร่งมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ฉะนั้น ธนาคารพาณิชย์ควรปล่อยสินเชื่อเพื่อการลงทุนมากขึ้น ต้องช่วยกันประคับประคองเอสเอ็มอีและประชาชน เพราะประชาชนผู้ฝากเงิน ประชาชนผู้เสียภาษี เอง ก็เป็นผู้ที่ช่วยผ่อนชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูที่เข้าไปช่วยเหลือภาคสถาบันการเงินตั้งแต่ตอนเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินปี 2540
การปรับโครงสร้างลดความเหลื่อมล้ำ พักหนี้หรือยืดหนี้เองก็เพียงบรรเทาปัญหากับดักวิกฤติหนี้สินเกษตรกรและเอสเอ็มอี ต้องแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการต่างๆ หนี้ครัวเรือนเองก็ต้องแก้ไขโดยเพิ่มทักษะอาชีพเพื่อให้เกิดแหล่งรายได้ใหม่ๆ เพิ่มผลิตภาพ เพิ่มรายได้ รัฐก็ต้องเพิ่มสวัสดิการพื้นฐานต่างๆให้เพียงพอและทั่วถึงเพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือน ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำ เดินหน้าเปิดเสรีให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น ลดการผูกขาด หรือ หากมีการค้าอย่างไม่เป็นธรรมด้วยมาตรการทุ่มตลาดของสินค้าจากจีนก็ต้องมีมาตรการปกป้องกิจการภายใน
ยุทธศาสตร์ของไทยในการเป็นครัวของโลกจำเป็นต้องมีการดำเนินนโยบายและมาตรการต่างๆเพื่อยกระดับภาคเกษตรกรรมให้มีความเข้มแข็ง เดิมนั้นภาคเกษตรกรรมของไทยมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบอยู่แล้ว แต่ขาดการดูแลเอาใจใส่ที่ดีประกอบกับไม่ได้มีการลงทุนภาคเกษตรกรรมไทยอย่างมีเป้าหมาย ไม่มีการลงทุนระบบการบริหารจัดการน้ำที่ดีพอจึงทำให้ภาคเกษตรกรรมไทยอ่อนแอลง ความต้องการอาหารในการเลี้ยงประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นได้สร้างโอกาสให้กับภาคเกษตรกรรมของไทยโดยเฉพาะการผลิตข้าว
รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวอีกว่า มาตรการพักหนี้ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส) จะช่วยบรรเทาปัญหากับดักวิกฤติหนี้สินเกษตรกร หนี้สินเอสเอ็มอีและหนี้ครัวเรือนได้ระดับหนึ่ง เป็นมาตรการที่จะมีผลครอบคลุมระยะ 1-2 ปีเพื่อบรรเทาความเดือนร้อนทางเศรษฐกิจ ช่วยแบ่งเบาปัญหาทางการเงินจากการมีหนี้สินล้นพ้นตัวเกินรายได้และต้นทุนที่ดำเนินการอยู่ ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า เป็นเกษตรกรกลุ่มไหนและขนาดของหนี้สินมีเพดานเท่าไหร่ เมื่อธนาคาร ธกส ดำเนินตามนโยบายพักหนี้ 3 ปีแล้ว รัฐบาลก็ต้องหาเงินงบประมาณมาชดเชยรายได้ของธนาคารเฉพาะกิจด้วย ซึ่งหลายรัฐบาลที่ผ่านมาก็ติดค้างภาระหนี้สะสมที่ต้องชดเชยรายได้ให้กับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐทั้งระบบและภาระผูกพันต่างๆไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท
ขณะเดียวกัน หากมีมาตรการพักหนี้เอสเอ็มอีผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดจริยธรรมวิบัติ (Moral Hazard) ในระบบการเงินของประเทศ หรือ ไปอุ้มกิจการผีดิบ (Zombies) ที่ไม่สามารถแข่งขันได้แล้ว ประกอบกิจการไม่ได้แล้ว หรือไม่เหมาะสมกับเศรษฐกิจยุคใหม่แล้ว อาศัยเงินสาธารณะให้สามารถดำเนินการกิจการไปได้แบบทุลักทุเลบนต้นทุนของเงินภาษีประชาชนส่วนใหญ่ ก็ต้องพิจารณาว่าเป็นนโยบายสาธารณะที่เหมาะสมหรือไม่
อย่างไรก็ตาม มาตรการพักหนี้อาจมีความเหมาะสมสำหรับกลุ่มเกษตรกรและกิจการบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโควิดเมื่อปี พ.ศ. 2563-2564 และยังอยู่ในวังวนของการเป็นหนี้ คือ ก่อหนี้ใหม่มาชำระหนี้เก่าด้วยต้นทุนที่สูงขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น โดยที่กลุ่มเกษตรกรและกิจการเหล่านี้มีแนวโน้มฟื้นฟูได้ หรือ เป็นกิจการที่มีศักยภาพแต่ขาดสภาพคล่องหรือมีหนี้สินสูง หากได้รับการสนับสนุนทางการเงินผ่านการพักหนี้ ปลอดการจ่ายเงินต้นหรือดอกเบี้ยระยะหนึ่ง ก็จะกลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ ได้อีกครั้งหนึ่ง
รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ และ อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวต่อว่ามาตรการกึ่งการคลังที่ดำเนินการผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคาร ธกส ธนาคารออมสิน ธนาคารเอสเอ็มอี ธนาคารกรุงไทย ในรูปแบบต่างๆ เช่น พักหนี้ อุดหนุนราคา เพิ่มทุน ค้ำประกันหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ หรือชดเชยรายได้ จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและบรรเทาปัญหาภาระหนี้สินได้ แต่ในขณะเดียวกันก็อาจกลายเป็นความเสี่ยงทางการคลังได้และเป็นภาระผูกพันที่อาจกลายเป็นภาระหนี้สาธารณะในอนาคตได้ เราจึงต้องติดตามและเอาใจใส่เช่นเดียวกับการก่อหนี้ที่ปรากฎในงบประมาณด้วย เพราะภาระผูกพันและภาระหนี้เหล่านี้จะไม่แสดงในงบประมาณ ฉะนั้นเราจึงต้องประเมินความเสี่ยงทางการคลังของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐผ่านสามประเด็นดังนี้
คือ ประเด็นแรก หากใช้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ พักหนี้ให้เกษตรกร และ เอสเอ็มอี ตลอดจนสนับสนุนนโยบายแจกเงินดิจิทัล ต้องเพิ่มทุนหรือจัดสรรเงินอุดหนุนให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจหรือไม่ อย่างไร ประเด็นที่สอง ความเสี่ยงและผลบวกต่อเศรษฐกิจ อันส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้จากการดำเนินการตามนโยบายเป็นอย่างไร ประเด็นที่สาม หนี้คงค้างของสถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้งที่รัฐบาลค้ำประกันและไม่ค้ำประกัน มีอยู่เท่าไหร่กันแน่ ฉะนั้นการตั้งเป้าให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เต็มศักยภาพที่ 5-6% เป็นเรื่องสำคัญเพื่อให้เศรษฐกิจมีรายได้สูงขึ้น และ ต้องสร้างกลไกให้เกิดการกระจายรายได้มายังคนส่วนใหญ่อย่างทั่วถึง คือ ต้องปฏิรูปโครงสร้างการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจัง การพักหนี้ เจรจาประนอมหนี้ หรือ ลดดอกเบี้ยเป็นเพียงแค่บรรเทาแต่ไม่ได้แก้ปัญหาในระยะยาว ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจต้องแก้ด้วยการปฏิรูปเศรษฐกิจ มาตรการประชานิยมช่วยได้แค่บรรเทาปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น การดำเนินการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนและเป็นระบบ ต้องมีการยกระดับมาตรฐานกระบวนการให้สินเชื่อและการปฏิบัติกับลูกหนี้อย่างเป็นธรรม (Responsible Lending) ครอบคลุมตลอดวงจรหนี้ของลูกหนี้ Responsible Lending เกิดขึ้นได้เมื่อมีการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพพร้อมการแข่งขันเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน
นอกจากนี้ การคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามความเสี่ยง (Risk-based Pricing) รวมทั้ง ยกเลิกกำหนดเพดานดอกเบี้ยจะช่วยให้เกิดการปรับพฤติกรรมวินัยทางการเงินของครัวเรือนให้ดีขึ้น แนวทางเหล่านี้ต้องทำควบคู่กับมาตรการระยะสั้น (พักหนี้ ประนอมหนี้ ลดดอกเบี้ย) ที่จะช่วยบรรเทาวิกฤติหนี้สินครัวเรือนได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวต่อว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นและยั่งยืนต้องอาศัยการปรับโครงสร้างภาคการผลิต การบริหารจัดการทางด้านอุปทาน ในส่วนของภาคเกษตรกรรมนั้นต้องแปรรูปพืชผลเกษตรเพิ่มมูลค่าด้วยการลงทุนทางด้านวิจัย พัฒนาผลิตภัณฑ์จากผลิตผลการเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้น เพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพิ่มรายได้ผ่านช่องทางต่างๆ ลดต้นทุนโดยเฉพาะค่าปุ๋ย ค่าอาหารสัตว์ ปฏิรูปที่ดินให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงทรัพยากรที่ดินได้มากขึ้น การใช้มาตรการและนโยบายเหล่านี้จะแก้ปัญหายั่งยืนกว่า
ในส่วนของธุรกิจขนาดย่อม ขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือ เอสเอ็มอี ต้องมุ่งที่การเพิ่มผลิตภาพทุน และ ผลิตภาพแรงงาน ผ่านการลงทุนทางด้านการพัฒนาทักษะ และ เทคโนโลยี มุ่งสร้างเครื่องหมายการค้า และ เอาการตลาดนำการผลิต ขยายตลาดใหม่ ลดต้นทุนด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการดำเนินกิจการ ภาครัฐเองก็ต้องลดต้นทุนให้กับเกษตรกรและกิจการเอสเอ็มอี ด้วยการมีโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มีคุณภาพและราคาเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการทั้งหลาย ทั้งระบบประปา ระบบบริหารจัดการน้ำและการชลประทาน ระบบไฟฟ้าและพลังงาน ระบบโทรคมนาคม ระบบคมนาคมขนส่งโลจีสติกส์ ระบบการบังคับใช้กฎหมายและระบบใบอนุญาตต่างๆ การติดสินบนทุจริตคอร์รัปชันต้องลดลงอย่างชัดเจน เป็นต้น
นอกจากนี้ภาครัฐควรส่งเสริมให้มีการเปิดเสรีสินค้าเกษตรอย่างมียุทธศาสตร์ ต้องมีแนวทางที่ปกป้องผู้ผลิตภายในและการอุดหนุนราคาโดยไม่ผิดหลักการขององค์การการค้าโลก เพิ่มการแข่งขัน ลดอำนาจผูกขาดในโครงสร้างตลาดและโครงสร้างการผลิตทั้งในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ทำให้ “เกษตรกร” และ “ผู้ประกอบการขนาดย่อมขนาดเล็ก” มีอำนาจต่อรองมากขึ้นในโครงสร้างระบบเศรษฐกิจทุนนิยมของไทย
รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ และ อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวอีกว่า ความจริงแล้ว ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจนั้นใหญ่กว่าปัญหาศักยภาพของเศรษฐกิจที่ลดต่ำลงหรือเติบโตต่ำลง แต่ทั้งสองปัญหานี้เชื่อมโยงกันอยู่ หากเราไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าในระดับปัจจุบัน จะเป็นการยากมากที่จะทำให้เกิดการกระจายรายได้หรือกระจายความมั่งคั่งเพื่อลดความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นระบบ การพักหนี้ การแจกเงิน การขึ้นค่าแรงโดยยึดกรอบการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ดี ระมัดระวังในเรื่องวินัยการเงินการคลัง ย่อมไม่นำไปสู่ปัญหาเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค วิกฤติหนี้สาธารณะ อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง เหมือนประชานิยมในละตินอเมริกาในยุคฮวน เปรองแห่งอาร์เจนตินา ค.ศ. 1946-1955 หรือ อัลแบร์โต ฟูจิโมริแห่งเปรู ค.ศ. 1990-2000
มาตรการดังกล่าวจะช่วยบรรเทาปัญหาหนี้สินและลดความเหลื่อมล้ำได้บ้าง และ มีความจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาระยะสั้นเฉพาะหน้า วิกฤติหนี้สิน และ ความเหลื่อมล้ำรุนแรง จะกลายเป็น “ระเบิดเวลา” ที่จะนำไปสู่ปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมในอนาคตของไทยได้ การบรรเทาปัญหาด้วยมาตรการระยะสั้นย่อมมีความจำเป็นไม่ต่างจากการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างด้วยมาตรการระยะยาว ความเหลื่อมล้ำไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำในโอกาส (Inequality of Opportunity) หรือ ความเหลื่อมล้ำของผลลัพธ์ (Inequality of Outcome) ก็ตาม จะกดดันให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงในระยะปานกลางและระยะยาว ศักยภาพและประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจถดถอยลง เป็นผลลบต่อเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยและความมั่นคงทางการเมืองและสังคม
รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวต่อว่า การกระจุกตัวของการถือครองที่ดินในสังคมไทยถือว่าเป็นปัญหาที่อยู่ในระดับรุนแรงมากๆ จำเป็นต้องมีการปฏิรูปที่ดินจัดรูปและจัดสรรที่ดินกันใหม่ “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ต้องมีการบังคับใช้เพื่อทำให้เกิดการใช้ “ทรัพยากรที่ดิน” อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เกิดการกระจายการถือครองที่ดินใหม่ และ เป็นแหล่งรายได้ของรัฐ ขณะนี้ กลุ่มที่ถือครองที่ดินสูงสุด 20% แรกถือครองที่ดินมากกว่ากลุ่มที่ถือครองที่ดินต่ำสุด 20% ล่างสุดมากกว่า 330 เท่า
นอกจากนี้กลุ่มที่ถือครองที่ดินสูงสุด 20% แรกนี้ยังถือครองที่ดินคิดเป็น 80% กว่าๆ และ คนที่ร่ำรวยที่สุดของประเทศนี้ 10% แรกถือครองที่ดินกว่า 90% ของทั้งประเทศ นอกจากนี้จากผลการวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินยังพบว่า มีค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคหรือการกระจายการถือครองที่ดินสูงถึง 0.89 การที่ค่า Gini Coefficient มีค่าสูงเกือบ 0.9 สะท้อนถึงความไม่ธรรมและความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงที่สุด ค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini Coefficient) เป็นอัตราส่วนซึ่งมีค่าระหว่าง 0 และ 1 สัมประสิทธิ์จีนีที่ต่ำ แสดงความเท่าเทียมกันในการกระจายรายได้ ความมั่งคั่งและทรัพย์สิน หากเข้าใกล้เลข 1 แสดงว่า มีความเหลื่อมล้ำอย่างสมบูรณ์ เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเองหรือถือครองที่ดินขนาดเล็กมาก ทำให้การจัดการที่ดินเพื่อสร้างผลผลิตไม่มีประสิทธิภาพและไม่เกิดการประหยัดต่อขนาด เกษตรกรรายย่อยถือครองที่ดินไม่เกิน 5 ไร่ และ ขนาดของที่ดินถือครองโดยลูกหลานก็เล็กลงเรื่อยๆจากการแบ่งซอยที่ดินให้ลูกหลาน เมื่อลูกหลานเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ก็ขายที่ดินให้นายทุนไป ทำให้ชาวนาหรือเกษตรกรส่วนใหญ่ขณะนี้ไม่มีที่ดินของตัวเอง นอกจากนี้ สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของไทยที่มีมากอยู่แล้วถูกซ้ำเติมเพิ่มอีกจากผลกระทบของภาวะโลกร้อน ภัยแล้งและปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในปีนี้ในหลายพื้นที่ของประเทศ
รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ และ อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า ปัจจัยชี้ขาดที่กำหนดการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว คือ ปัญหาคุณภาพการศึกษาผูกกับปัญหาคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ ต้องยอมรับว่าประเทศขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขาดแคลนนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขา ทรัพยากรมนุษย์เหล่านี้เป็นพื้นฐานของธุรกิจอุตสาหกรรมแห่งอนาคต นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลตลาดแรงงาน พบว่า ไทยมีแรงงานในระบบประมาณ 19.1 ล้านคน (47.7%) แรงงานนอกระบบ 21 ล้านคน (52.3%) มากกว่า 50% ของแรงงานนอกระบบ เป็น แรงงานในภาคเกษตรกรรม ที่ล้วนมีอายุสูงโดยเฉลี่ย 52-53 ปี อีกหลายปีข้างหน้า โดยสภาพร่างกายย่อมไม่สามารถทำงานหนักใช้แรงทางกายภาพได้ ควรต้องมีการลงทุนให้เข้าถึงอุปกรณ์และเครื่องจักรทางการเกษตรเพิ่มขึ้น ในบรรดาแรงงานนอกระบบนี้ มีค่ามัธยฐานของอายุสูงกว่าแรงงานในระบบ 12 ปี สะท้อนว่า มีคนชราภาพต้องทำงานจำนวนมาก ประเทศอาเซียนส่วนใหญ่ล้วนมีค่ามัธยฐานของอายุต่ำกว่าไทย ข้อมูลเหล่านี้บ่งชี้ว่า ไทยกำลังเผชิญปัญหาการขาดแคลนแรงงานและสังคมผู้สูงวัยที่ทำให้การเติบโตเต็มศักยภาพมีขีดจำกัด และ ปัญหานี้จะรุนแรงยิ่งขึ้นในอนาคตหากไม่มีการแก้ไข การมีนโยบายทางด้านประชากรและนโยบายด้านแรงงานที่ตอบสนองต่อความท้าทายจึงมีความสำคัญ การปรับโครงสร้างประชากรและตลาดแรงงานจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้