นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2567 และที่ประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส. (บอร์ด ธ.ก.ส.) เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2567 ได้เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการสนับสนุนปุ๋ย ลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หรือโครงการปุ๋ยคนละครึ่งและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อปัจจัยการผลิตที่สำคัญ คือ ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และสารชีวภัณฑ์ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำนวนกว่า 4.48 ล้านครัวเรือน พื้นที่กว่า 54 ล้านไร่ และเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ ประมาณ 2 แสนครัวเรือน พื้นที่ประมาณ 1.2 ล้านไร่
โดยรัฐบาลจะช่วยเหลือค่าปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และสารชีวภัณฑ์ ให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกับกรมส่งเสริมการเกษตร ปีการผลิต 2567/68 ตามพื้นที่ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนไว้ จำนวนครึ่งหนึ่ง หรือไม่เกินไร่ละ 500 บาทต่อไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ สูงสุด 10,000 บาท และเกษตรกรจ่ายสมทบอีกครึ่งหนึ่ง
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิตข้าวด้วยการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมตามสภาพนิเวศน์และพื้นที่ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนการผลิต ควบคู่กับการสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร ด้วยการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตสมัยใหม่ เข้ามาปรับเปลี่ยนและพัฒนากระบวนการผลิตข้าว รวมถึงการใช้สารชีวภัณฑ์มายกระดับผลผลิตข้าว เพื่อมุ่งสู่ระบบการผลิตข้าวปลอดภัย
รวมถึงการกระตุ้นให้เกิดการผลิตพืชอินทรีย์ ที่ตอบโจทย์เทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพ อันเป็นทิศทางที่มุ่งไปสู่การสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและการยกระดับรายได้ให้เกษตรกรไทยเป็น 3 เท่า ภายในระยะเวลา 4 ปี ตามเป้าหมายนโยบายรัฐบาล และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลก
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการผ่านแอปพลิเคชัน BAAC Mobile โดยเลือกรับการสนับสนุนค่าปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ หรือสารชีวภัณฑ์ที่ต้องการ ซึ่งมีปุ๋ยที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 16 รายการ จากนั้น เกษตรกรสามารถชำระเงินสมทบค่าปุ๋ยตามที่แจ้งความประสงค์ และสามารถไปรับปุ๋ยและสารชีวภัณฑ์ได้ที่สหกรณ์การเกษตรในพื้นที่ภายใน 30 วัน
โดย ธ.ก.ส. จะเปิดระบบแจ้งความประสงค์โครงการฯ ผ่านแอปพลิเคชัน BAAC Mobile ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. 2567 – 31 พ.ค. 2568 ทั้งนี้ สำหรับลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้เกษตรกรรายย่อย สามารถเข้าร่วมโครงการได้ตามปกติ