เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ด้านปศุสัตว์

การคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรด้านปศุสัตว์ประจำปี 2565 จะได้รับโล่รางวัลพระราชทาน เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ (อาชีพเลี้ยงสัตว์) พ.ศ. 2565 คือ นายเกรียงศักดิ์ เสรีรัตน์ยืนยง อายุ 59 ปี ปริญญาตรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง สาขาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์ สาขาสัตวศาสตร์ เลี้ยงสุกร จำนวน 3,850 ตัว และ ไก่เบตง จำนวน 35,000 ตัว

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงความคิดริเริ่มและความพยายามฟันฝ่าอุปสรรคในการสร้างผลงาน ว่า นายเกรียงศักดิ์ เสรีรัตน์ยืนยง ประกอบอาชีพรับราชการและมีอาชีพเสริมรับจ้างดูแลสุขภาพสัตว์และผสมเทียมสุกร พ.ศ.2529 เริ่มทำฟาร์มสุกรหลังบ้าน 30 แม่ และเริ่มทดลองเลี้ยงไก่เบตง ต่อมาได้ลาออกจากราชการเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรเต็มตัว โดยเช่าซื้อฟาร์มสุกร 24 ไร่ และซื้อที่ดินเพิ่ม เพื่อเลี้ยงไก่เบตง 4 ไร่ ปี 40 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเริ่มขาดสภาพคล่องทางด้านการเงิน พ่อค้าไม่ซื้อสุกรเนื่องจากคุณภาพซากไม่สวย (ไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดง) จึงแก้ปัญหาโดยการเปิดเขียงจำหน่ายเนื้อสุกรในตลาด ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการทำฟาร์มสุกรปลอดสารเร่งเนื้อแดงจนถึงปัจจุบัน ต่อมาจัดตั้งกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรเพื่อผู้บริโภคจังหวัดยะลา สมาชิกประมาณ 100 ราย เพื่อจำหน่ายเนื้อสุกรราคาถูก แปรรูปผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าด้านปศุสัตว์ และเปิดร้านอาหารคนรากหญ้า แต่เนื่องจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จำเป็นต้องปิดกิจการ ต่อมาเข้าสู่การทำฟาร์มเลี้ยงสุกรตามมาตรฐานของกรมปศุสัตว์ และ นำเข้าสุกรพันธุ์แท้ จากอังกฤษ พันธุ์ ACMC (เหมยซาน – ลาร์จไวท์) สายเลือดระดับ GGP และใช้อาหารของบริษัทร่วมกับอาหารสุกรขุนผสมเองบางส่วนเพื่อลดต้นทุนการผลิต และสร้างโรงฆ่าสุกรตามมาตรฐานของกรมปศุสัตว์เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคระบาด รวมทั้ง ได้ก่อตั้งฟาร์มไก่เบตง โดยนำลูกไก่เบตงพันธุ์แท้จากศูนย์วิจัยและพัฒนาแพะแกะยะลา และสายพันธุ์เดิมที่มีในฟาร์ม สร้างโรงเชือดไก่เบตงตามมาตรฐานโรงฆ่าสัตว์ปีก ต่อมาเกิดปัญหาโรคโควิด ทำให้การท่องเที่ยวปิดตัวลงไม่สามารถจำหน่ายเนื้อไก่เบตงได้ นำไปเก็บในห้องเย็นบางส่วนเสียหายจึงนำมาทำอาหารสัตว์ และแปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นเนื้อไก่สับพร้อมทานเพื่อจำหน่าย ตลอดระยะเวลาการเลี้ยงปศุสัตว์ของ นายเกรียงศักดิ์ เสรีรัตน์ยืนยง ตั้งแต่เริ่มจนถึงปัจจุบัน มีกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยตั้งแต่ฟาร์มสู่ผู้บริโภค (Farm to Table) มีระบบการจัดการฟาร์ม พัฒนาสายพันธุ์ และการสุขาภิบาลสัตว์ที่ดี โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ผลผลิตปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค รวมทั้งใช้มูลสุกรผลิตแก๊สชีวภาพเป็นพลังงานแทนกระแสไฟฟ้า เป็นแหล่งเรียนรู้และสถานที่ฝึกงานของนักศึกษา และได้รับการยอมรับจากสังคม

%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B9%8C 2 scaled

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงผลงานความสำเร็จของงานทั้งปริมาณและคุณภาพและความยั่งยืนในอาชีพ ว่า นายเกรียงศักดิ์ เสรีรัตน์ยืนยง ใช้พ่อแม่สัตว์พันธุ์ดีในการพัฒนาฟาร์ม ได้การรับรองเป็นฟาร์มสุกรปลอดสารเร่งเนื้อแดง ฟาร์มรักษ์สิ่งแวดล้อม ฟาร์มเลี้ยงสุกรปลอดยาปฏิชีวนะแห่งเดียวในภาคใต้ มีโรงฆ่าสัตว์ตามมาตรฐานกรมปศุสัตว์ (โรงฆ่าสุกรและโรงฆ่าสัตว์ปีกฮาลาล) มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์ มีเขียงและหน้าร้านจำหน่าย สินค้าที่ผลิตได้รับเครื่องหมาย “ปศุสัตว์ OK” รวมทั้งเป็นอดีตนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ และประธานหอการค้าจังหวัดยะลา ทั้งยังได้รับโล่เชิดชูเกียรติ “รางวัลบุคคลแห่งปี : ครุฑทอง” เป็นผู้มีความสามารถและผลงาน เกิดประโยชน์ต่อสังคม สาขาบริหารพัฒนาธุรกิจดีเด่น จากคณะกรรมการเครือข่ายส่งเสริมสังคมไทย มีการบริหารจัดการฟาร์ม ด้านสายพันธุ์สุกร นำเข้าสุกรพันธุ์แท้จากอังกฤษผลิตลูกขุน ผลผลิตลูกดก คุณภาพซากตรงตามความต้องการของผู้บริโภค ประสิทธิภาพดี ลดต้นทุนการผลิต ลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคสู่ฟาร์มจากการมีแม่พันธุ์เอง ด้านสายพันธุ์ไก่เบตง มีฝูงไก่เบตงพันธุ์แท้ สายเลือดระดับ GP ด้านอาหารสัตว์ ใช้อาหารข้นบริษัทร่วมกับวัตถุดิบในท้องถิ่นเพื่อลดต้นทุนค่าอาหารและกระจายรายได้สู่ชุมชน ด้านจัดการฟาร์ม เป็นฟาร์มสุกรปลอดสารเร่งเนื้อแดง ฟาร์มรักษ์สิ่งแวดล้อม และฟาร์มเลี้ยงสุกรปลอดยาปฏิชีวนะแห่งเดียวในภาคใต้ นำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการฟาร์ม เช่น ระบบควบคุมสภาพแวดล้อมภายในโรงเรือนเลี้ยงไก่แบบอัตโนมัติ ควบคุมการเปิด-ปิดพัดลมระบายอากาศ เพื่อลดปริมาณก๊าซแอมโมเนียภายในโรงเรือน ใช้ตู้ฟักไข่อัตโนมัติ ประหยัดทรัพยากร ประหยัดเวลา ลดต้นทุนการผลิต ด้านโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ มีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าปศุสัตว์ เช่น แหนม กุนเชียง หมูบะช่อ เนื้อไก่เบตงแปรรูป (เนื้อไก่สับพร้อมทานบรรจุกล่อง) ด้านการตลาด มีโรงฆ่าสัตว์มาตรฐานกรมปศุสัตว์ (โรงฆ่าสุกรและโรงฆ่าสัตว์ปีก) ลดการปนเปื้อนเชื้อโรค ถูกสุขลักษณะอนามัย ปลอดภัยต่อผู้บริโภค สินค้าได้รับเครื่องหมาย “ปศุสัตว์ OK”

%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B9%8C 7

“ นายเกรียงศักดิ์ มีความเป็นผู้นำและการเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมในด้านต่าง ๆ นายเกรียงศักดิ์ เสรีรัตน์ยืนยง ถือได้ว่าเป็นบุคคลที่มีความเป็นผู้นำ พร้อมกับเป็นผู้ตามที่ดี มีความรู้และประสบการณ์ ทำงานด้วยความเสียสละ พัฒนาตนเองอยู่เสมอ เป็นที่ยอมรับของบุคคลทั่วไป ทั้งเกษตรกรด้วยกันเอง ประชาชนในท้องถิ่น หน่วยงานราชการและให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ มากมายหลายด้าน อาทิ ด้านความเป็นผู้นำ ด้านการถ่ายทอดความรู้ ด้านการเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ฯลฯ

%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B9%8C 12


การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายเกรียงศักดิ์ เสรีรัตน์ยืนยง ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนการลดการใช้สารเคมีต่าง ๆ ที่อาจเป็นอันตรายหรือส่งผลร้ายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการใช้โปรไบโอติกทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะ และจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียก่อนทิ้งลงสู่ธรรมชาติโดยการสร้างบ่อบำบัดก๊าซชีวภาพ ซึ่งทำให้ช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานในการผลิตได้อย่างมาก สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยและพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมปศุสัตว์ โทร. 0 – 2653 – 4444 ต่อ 2271 ” อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว