วันที่ 25 มิ.ย.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (สร.อ.ส.ค.) ออกจดหมายเปิดผนึกเปิดเผยความไม่ชอบมาพากลในการบริหารงานของ คณะกรรมการสโมสรผู้ปฏิบัติงาน อ.ส.ค. โดยเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.67 ได้มีการประชุมคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ อ.ส.ค.ครั้งที่ 2/2567 นับเป็นครั้งแรกที่มีการประชุมหลังจากว่างเว้นไม่มีการประชุมมานานกว่า 6 เดือน ในการประชุมครั้งนี้ สร.อ.ส.ค. ได้ขอติดตามเรื่องสโมสรผู้ปฏิบัติงาน อ.ส .ค. มีหนี้ค้างชำระ และมีผู้แทนกรรมการของสโมสรฯเข้าชี้แจงว่าปัจจุบัน (ณ วันที่ 20 มิ.ย.67) สโมสรฯมีหนี้ค้างชำระกับ อ.ส.ค.ทั้งสิ้น จำนวน 28.95 ล้านบาท โดยขอทำแผนชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นใน ก.ค. 67 ส่งผลให้ผลประกอบการ อ.ส.ค.ในเดือน พ.ค.67 ที่ผ่านมาขาดทุนสุทธิ 8.18 ล้านบาท
จากความเป็นมาของสโมสรผู้ปฏิบัติงาน อ.ส.ค. ที่จัดตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2561 ตามระเบียบ อ.ส.ค.ว่าด้วยสโมสรผู้ปฏิบัติงาน อ.ส.ค และได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 8 พ.ค.พ.ศ.2561 โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือจัดทำสวัสดิการพนักงาน เกี่ยวกับการกีฬา สันทนาการ งานประเพณีและวัฒนธรรม จัดหาร้านค้า ร้านอาหาร เครื่องดื่มเพื่อบริการสมาชิกและพนักงานของ อ.ส.ค. แต่คณะกรรมการของสโมสรฯกลับไม่ดำเนินการตามวัตถุประสงค์หลักโดยเฉพาะด้านสวัสดิการและสันทนาการของพนักงาน กลับดำเนินการทำธุรกิจแข่งขันกับ อ.ส.ค. เสียเอง โดยดำเนินธุรกิจลงทุนเปิดร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมและเครื่องดื่ม คือร้านนม Milk Land สาขามวกเหล็ก และเป็นผู้จัดหาวัสดุอุปกรณ์ให้กับร้านนม Milk Land สาขาต่างๆที่ซื้อแฟรนไชส์ Milk Land จาก อ.ส.ค.ในหลายจังหวัดทั่วประเทศซึ่งร้าน Milk Land เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป
นอกจากนี้สโมสรฯยังเข้าครอบครองกิจการร้านขายผลิตภัณฑ์นมของฝ่ายท่องเที่ยวเชิงเกษตร ของ อ.ส.ค. ที่เคยมีรายได้เข้า อ.ส.ค. ปีละประมาณ 20-30 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันเกิดผลกระทบกับฝ่ายท่องเที่ยวฯของ อ.ส.ค.ทำให้ขาดรายได้ในกิจการส่วนนี้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้คณะกรรมการสโมสรฯยังไปดำเนินการจัดตั้งเป็น “ห้างหุ้นส่วนสามัญสโมสรผู้ปฏิบัติงาน อ.ส.ค.” เพื่อยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบก้าวหน้าเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป แต่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จึงไม่มีการจัดทำงบการเงิน ทำเพียงบัญชีรายรับ-รายจ่าย เท่านั้น ไม่ต้องมีผู้ตรวจสอบบัญชี เมื่อห้างหุ้นส่วนสามัญสโมสรผู้ปฏิบัติงาน อ.ส.ค. มิใช่นิติบุคคล การกระทำของคณะกรรมการสโมสรฯ จึงถือเป็นการกระทำในนามส่วนตัว และเบียดบังเวลาราชการ ไม่อุทิศเวลาของตนให้แก่ อ.ส.ค และเป็นการละทิ้งหน้าที่ของตน หากกระทำในนามของพนักงาน อ.ส.ค. ที่ได้รับคำสั่งให้ไปจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมตามระเบียบแล้วเมื่อจำหน่ายได้ต้องนำส่งเงินให้ฝ่ายบัญชีและการเงินของ อ.ส.ค. ทันทีในวันนั้นหรือวันทำการถัดไปเท่านั้น และการกระทำของคณะกรรมการสโมสรฯยังเป็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์เพราะผู้บริหารอ.ส.ค.ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการของสโมสรฯ เป็นทั้งผู้คผู้บริหารที่ควบคุมการผลิตนม เป็นทั้งเอเย่นต์ผู้ซื้อนม และเป็นทั้งเอเย่นต์ผู้ขายนม ซึ่งล้วนเป็นบุคคลๆคนเดียวกัน จน อ.ส.ค.เสียหาย อีกทั้งยังมีการซื้อผลิตภัณฑ์นมเป็นเงินเชื่อโดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันใดๆ ซึ่งโดยปกติแล้วผู้ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายถ้าหากซื้อผลิตภัณฑ์เป็นเงินเชื่อต้องวางหลักประกันความเสี่ยงคือเป็นเช็คลงวันที่ล่วงหน้าโดยผู้อำนวยการอ.ส.ค.จะเป็นผู้อนุมัติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันสโมสรฯ มีหนี้ค้างชำระกับ อ.ส.ค.สูงถึง 28.95 ล้านบาทส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของ อ.ส.ค. ซึ่งผลจากความเสียหายครั้งนี้ สหภาพแรงงานฯได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการ อ.ส.ค. ให้รับทราบและหาทางแก้ไขปัญหาโดยด่วน โดยต้องสั่งการให้ อ.ส.ค หยุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้สโมสรฯทันทีเพราะเป็นการกระทำโดยมิชอบ หากดูงบการเงินของสโมสร ณ วันที่ 31 ธ.ค.พ.ศ. 2566 พบว่าสโมสรฯ มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 871,979.62 บาท มีลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่นจำนวน 1,562,426.40 บาท มีสินค้าคงเหลือจำนวน 9,042,421.16 บาท รวมสินทรัพย์หมุนเวียนจำนวน 11,476,827.18 บาท มีเจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้อื่นจำนวน 16,665,850.15 บาท เป็นเจ้าหนี้การค้า อ.ส.ค.จำนวน 16,284,026.71 บาท (เป็นหนี้ค่าผลิตภัณฑ์นม อ.ส.ค.จำนวน 16,284,026.71 บาท) ส่วนหนี้สินอื่นๆเพียง 15,966 บาท การที่สโมสรฯมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินแสดงให้เห็นว่าเกิดปัญหาในสโมสรฯอย่างแน่นอน โดยที่สโมสรฯมีกำไร(ขาดทุน)สุทธิเพียง 57,697.07 บาท
ล่าสุดยังมีผู้ร้องเรียนมาที่สหภาพแรงงานฯว่าสโมสรฯดำเนินการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมทับซ้อนกับตัวแทนจำหน่ายรายอื่นๆในหลายจังหวัด สิ่งที่ผิดปกติคือสโมสรฯเอาผลิตภัณฑ์นมไปจำหน่ายทั่วไปได้อย่างไรในขณะที่ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือส่งเสริมการขายใดๆ เช่นไม่มีรถขนส่ง ไม่มีพนักงานสโมสรฯ ไปส่งนม ไม่มีโกดังเก็บนม ไม่มีพนักงานเดินตลาด หรือว่านี่คือการจับเสือมือเปล่าโดยอาศัยช่องทางการจำหน่ายจากเอเย่นต์รายใหญ่ที่เลิกกิจการในภาคอีสาน ต้องรอดูว่าคณะกรรมการ อ.ส.ค.ชุดใหม่ที่เข้ารับหน้าที่เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2567 จะแก้ปัญหานี้อย่างไร? นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สหภาพแรงงานฯร้องเรียนเรื่องนี้ ก่อนหน้านั้นได้ยื่นหนังสือ ถึง นายกรัฐมนตรี ให้ตรวจสอบการดำเนินงานของคณะกรรมการสโมสรผู้ปฎิบัติงาน อ.ส.ค.เมื่อวันที่ 4 พ.ย.2566 ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 111 แต่ยังไม่มีความคืบหน้า
อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสงเกตคือ พนักงาน อ.ส.ค.ส่วนใหญ่ไม่กล้าเข้าไปเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของสโมสรฯ เพราะเห็นว่ามีความไม่ชอบมาพากล จึงมีพนักงานสมัครเข้าไปเป็นสมาชิกสโมสรฯในปีแรกๆที่ก่อตั้งเพียง 78 คน และส่วนใหญ่ในจำนวนนี้ก็เกษียณอายุไปแล้ว จึงเหลือสมาชิกอยู่ในปัจจุบันเพียงไม่กี่คน