การเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจอย่าง “กุ้ง”หรือ “ปลา” ให้ได้คุณภาพ ต้องอาศัยการดูแลและบริหารจัดการฟาร์มอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงที่สำคัญยิ่งต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำซึ่งการอยู่รอดของสัตว์น้ำยังสะท้อนถึงความอยู่รอดของเกษตรกรผู้เลี้ยงด้วยเช่นกัน
จงกล ผลวงษ์, ภูมิพจน์ ต่อชีวี และพัชรินทร์ จินดาพรรณ ต่างคลุกคลีในแวดวง “การเลี้ยงกุ้ง” มานานกว่า 20 ปี ตั้งแต่สมัยที่นิยมเลี้ยงกุ้งกุลาดำจนปรับเปลี่ยนเป็นกุ้งขาวในปัจจุบัน การเลี้ยงสัตว์น้ำไม่ว่าชนิดใด คุณภาพน้ำส่งผลต่อความแข็งแรงและสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ ซึ่งคุณภาพน้ำมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องและสัมพันธ์เชื่อมโยงกันทั้งสภาพอากาศเหนือบ่อเลี้ยงและสภาพแวดล้อมในน้ำ
“ค่า ph ค่า DO ในน้ำที่เปลี่ยนแปลง ทำให้กุ้งเครียดได้ เมื่อกุ้งเครียด ภูมิต้านทานของร่างกายอ่อนแอ เชื้อโรคก็จู่โจม” พัชรินทร์ จินดาพรรณ นายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทยและเจ้าของลูกกระต่ายฟาร์ม จ.จันทบุรี บอกถึงคุณภาพน้ำที่ส่งผลต่อการเกิดโรคในกุ้งได้
pH คือ ค่าความเป็นกรด-ด่าง และ DO (Dissolved Oxygen)คือ ปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำ ซึ่งทั้งสองค่าเป็นปัจจัยที่สัมพันธ์และสำคัญยิ่งต่อการเจริญเติบโตของกุ้ง เกษตรกรจึงต้องตรวจวัดค่า pH และค่า DO ทุกวัน และใช้เป็นข้อมูลหลักเพื่อจัดการสภาพน้ำในบ่อเลี้ยงให้เหมาะสม ทั้งการเพิ่มออกซิเจนในน้ำโดยใช้เครื่องเติมอากาศ การใช้สารเคมีเพิ่มปริมาณออกซิเจน การเติมปูนขาวเพื่อปรับค่า pH การเพิ่มจุลินทรีย์ในน้ำหรือการเติมแร่ธาตุต่างๆ เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม เพื่อช่วยให้กุ้งดำรงชีวิตอยู่ได้และแข็งแรงสมบูรณ์ แต่การจัดการต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนของฟาร์มกุ้งทั้งสิ้น
“การเลี้ยงกุ้ง ปัจจัยทุกตัวสำคัญพอกัน แต่ถ้าเราคุม DO ได้ เราจะประหยัดทุกตัว” จงกล ผลวงษ์ เจ้าของ จงกลฟาร์ม จ.จันทบุรี พูดถึงการควบคุม DO โดยใช้เครื่องเติมอากาศแบบใบพัดตีน้ำเป็นอุปกรณ์หลักควบคุมปริมาณออกซิเจน ซึ่งการเปิดใบพัดตีน้ำกี่แขนตีน้ำบ่อยและนานแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละฟาร์ม
“แต่ก่อนคนงานก็ใช้เครื่องมือวัด DO บ้างไม่วัดบ้าง แล้วก็ตีน้ำไปเรื่อย น้ำต้องเวียน กลัวกุ้งตาย กลางวันเปิดใบตีน้ำ 8 แขน กลางคืนเปิดอีก 4 แขน แต่เดี๋ยวนี้ตีน้ำตามค่าที่เห็นจากระบบ” จงกล เล่าถึงการใช้ข้อมูลค่า DO จากระบบตรวจวัดติดตาม แจ้งเตือนค่าออกซิเจนที่ละลายในน้ำ (DO) แบบทันท่วงที ซึ่งแสดงผลที่หน้าตู้อุปกรณ์ที่ติดตั้งร่วมกับสถานีตรวจวัดอากาศเหนือบ่อเพาะเลี้ยง (Pond Weather Station) และแสดงผลผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเขาสามารถติดตามค่า DO ได้ตลอดเวลา
“ระบบนี้ทำให้ดูค่า DO ค่า pH ได้ตลอด ก็ทำให้สนใจ ไม่ต้องมาคอยวัดเรื่อยๆ” ภูมิพจน์ ต่อชีวี เจ้าของภูมิพจน์ฟาร์ม จ.ระยอง เล่าถึงเมื่อครั้งได้รู้จักเทคโนโลยีนี้และด้วยเป็นคนที่เปิดรับข้อมูลเทคโนโลยีและนวัตกรรมอยู่แล้ว เขาจึงยินดีเป็นฟาร์มนำร่องทดลองใช้เทคโนโลยี Aqua-loT โดยเขาใช้ดูค่า DO และ pH เป็นหลัก เนื่องจากมองว่าสามารถควบคุมได้ ขณะที่อุณหภูมิ ลม หรือฝน เป็นปัจจัยธรรมชาติที่ไม่สามารถบังคับได้
ขณะที่ พัชรินทร์ เล่าว่า แต่ก่อนเชื่อว่าต้องใส่ปูนขาวช่วงหัวค่ำ เพราะกลางคืนกุ้งลอกคราบ สันนิษฐานว่าค่า pH ในน้ำจะต่ำลง ก็ใส่ปูนดักไว้ แต่เราไม่รู้จริง ๆ ว่าถึงเวลานั้น pH จะต่ำลงจริงมั้ย พอมีระบบตรวจวัดฯ เราติดตามบ่อที่ไม่ได้ใส่ปูน ค่า pH ก็ไม่ตก แต่พอลองใส่ปูน ค่า pH ขึ้นสูงเกินความจำเป็น
“ที่ผ่านมามันเป็นความเชื่อของเราว่าจะเป็นแบบนั้น และทำให้กุ้งเครียดโดยที่เราไม่รู้ตัวจากสิ่งที่เราใส่ลงไป แต่พอมีเครื่องวัดและมอนิเตอร์ข้อมูล เวลากุ้งมีปัญหา เราก็เอาข้อมูลมาวิเคราะห์ ก่อนกุ้งเสียหาย 1 สัปดาห์มีอะไรที่ผิดปกติหรือแตกต่างจากเดิม พอไปดู ใส่ปูนเพิ่ม pH ไปตอนหัวค่ำ ค่า pH ไปขึ้นตอนตี 1 ตี 2 ซึ่งเวลานั้นไม่มีใครมาวัด ถ้าไม่มีเครื่องตัวนี้เราจะไม่รู้เลย”
เมื่อเกษตรกรสามารถติดตามข้อมูลความเปลี่ยนแปลงของสภาพเคมีในน้ำได้ตลอดเวลา ย่อมส่งผลต่อการบริหารจัดการต้นทุนของฟาร์มทั้งค่าพลังงานจากการใช้เครื่องเติมอากาศ สารเคมี แร่ธาตุหรือแม้แต่การให้อาหารซึ่ง พัชรินทร์ บอกว่า เท่าที่ผ่านมาบ่อที่ติดตั้งระบบฯ ผลผลิตค่อนข้างดี เราบริหารจัดการได้ดี ต้นทุนก็ลดลง เช่น ค่าปูน ไม่จำเป็นต้องใส่ จากเดิมใส่มากใส่น้อยก็ใส่ เพื่อความสบายใจ กุ้งไม่ชอบอะไรที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ๆ เราใช้ข้อมูลจากระบบมาบริหารจัดการคุณภาพน้ำจนค่าต่าง ๆ นิ่งได้ และเพิ่มเฉพาะส่วนที่ต้องเพิ่ม เช่น จุลินทรีย์ใส่คุมแพลงก์ตอน เมื่อแพลงก์ตอนไม่บูม ค่า pH ก็ไม่สูง ถ้าเราจัดการแบบนี้ แล้วคุณภาพน้ำได้ตามพารามิเตอร์ที่เห็นจากระบบ ก็ถือว่าโอเค
ด้าน จงกล สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงการจัดการบ่อกุ้งหลังใช้ข้อมูลจากระบบตรวจติดตามฯ ว่า แต่ก่อนต้นทุนการทำฟาร์มสูงทุกอย่าง เพราะเราใช้แบบเดา ตรวจขาดอะไร เราก็ใส่เพิ่ม แต่ปัจจุบันไม่ใช่ เราพิจารณาข้อมูลค่าต่าง ๆ แล้วว่าตัวเลขประมาณนี้ กุ้งอยู่ได้ ไม่จำเป็นต้องลงอะไรเพิ่ม อาหารจากเดิมให้หลายเวลา แต่พอรู้อุณหภูมิ รู้ค่าออกซิเจนในน้ำ ก็คำนวณการให้อาหารแม่นยำขึ้น ทำให้ไม่มีอาหารตกค้างในบ่อ น้ำสะอาด ก็ไม่ต้องบำบัด แล้วอัตราแลกเนื้อของกุ้งก็ดี จากเดิมกุ้ง 1 ตัน กินอาหาร 1.9 ตัน แต่ตอนนี้กุ้ง 1 ตัน กินอาหาร 1.2 ตัน ลดไป 700 กก./บ่อเลี้ยง
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้ จงกล ตัดสินใจติดตั้งหัวโพรบวัดค่า DO เพิ่มเองอีก 2 บ่อเลี้ยง ซึ่งแม้ว่าราคาจะสูง แต่เขามองว่าคุ้มค่าการลงทุน ขณะที่ ภูมิพจน์ ใช้การย้ายชุดอุปกรณ์ไปติดตั้งที่บ่อเลี้ยงโดยหมุนเวียนใช้ 3 บ่อในฟาร์ม
“ที่ฟาร์มเราใช้ระบบตลอด ย้ายเครื่องหมุนเวียนไปตามบ่อเลี้ยง การย้ายเครื่องไม่มีปัญหา เรา set up และตั้งค่าตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ” ภูมิพจน์ เล่าถึงการหมุนเวียนใช้ระบบตรวจวัดติดตามฯ และสถานีตรวจวัดอากาศเหนือบ่อเลี้ยง โดยมี ดารา ต่อชีวี ภรรยาที่เคยทำงานบริษัทโทรคมนาคม รับหน้าที่ดูแลด้านเทคนิคตั้งค่าต่าง ๆ ขณะที่ ภูมิพจน์ เป็นผู้ใช้งานระบบฯ โดยเขายังคงใช้ชุด test kit วัดค่า pH และอุปกรณ์ตรวจวัด DO เปรียบเทียบกับข้อมูลจากระบบฯ ด้วย เพื่อเพิ่มความมั่นใจ
“ข้อมูลจากระบบฯ มี error บ้าง ก็ต้องเปรียบเทียบค่าจาก test kit หรือเครื่องวัดด้วยเพื่อความแน่ใจ และเราต้องตรวจเช็คที่หัวโพรบด้วย ถ้าไม่สะอาดหรือแผ่นเมมเบรน (membrane) ขาด ก็ต้องเปลี่ยนแล้วตั้งค่าใหม่”
หัวโพรบเป็นอุปกรณ์สำคัญของระบบฯ ที่เกษตรกรผู้ใช้เทคโนโลยีนี้ต้องดูแลและทำความสะอาดเพื่อให้สามารถแสดงค่า DO ได้ถูกต้อง และบริหารจัดการคุณภาพน้ำในบ่อได้เหมาะสมเพื่อรักษาชีวิตของกุ้งในบ่อ ดังที่ จงกล เล่าว่า เคยเจอเหตุการณ์ค่า DO ตก แล้วระบบฯ ส่งไลน์แจ้งเตือน ก็ให้ลูกน้องไปดู ปรากฎว่าหัวโพรบสกปรก ถ้าเป็นแต่ก่อน ไม่มีอะไรแจ้งเตือนว่าค่า DO ตก มารู้อีกทีกุ้งลอยตายแล้ว
ข้อมูลรายงานสภาพบ่อเลี้ยงจากระบบฯ ส่งผ่านเข้าไลน์ (Line) ของเกษตรกรทุกวัน ขณะเดียวกันเกษตรกรยังสามารถดูข้อมูลได้จากเว็บไซต์ที่แสดงผลข้อมูล 8 พารามิเตอร์แบบ real time ได้แก่ ออกซิเจนละลายในน้ำ (DO) กรด-ด่าง (pH) อุณหภูมิในน้ำ แสง ทิศทางลม ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิอากาศ และความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เก็บไว้บนระบบคลาวด์ สามารถเรียกดูข้อมูลย้อนหลังได้
“เทคโนโลยี loT จำเป็นและต้องศึกษา จากที่งมโข่งและฟังเซลล์อย่างเดียว ใส่ของลงไปแต่ไม่มีประโยชน์อะไร ตอนนี้ลดใส่ปูน แคลเซียม แมกนีเซียม ย้อนกลับไปเหมือนเลี้ยงเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ไม่ต้องใช้ของพวกนี้ เทคโนโลยีไม่ได้เปลี่ยนวิธีเลี้ยงของเรามาก เพียงแต่ช่วยให้เราประหยัดได้หลายอย่างแต่ใช้เทคโนโลยีอย่างเดียวไม่ได้ต้องละเอียด ทุกอย่างในฟาร์มต้องบาล๊านซ์ (balance) กันหมด มีระบบฯ ก็ต้องขยันเดิน ไม่ใช่นอนดูจอ” จงกล สะท้อนถึงการใช้เทคโนโลยีกับฟาร์มเลี้ยงกุ้ง ขณะที่ ภูมิพจน์ มองว่า การเลี้ยงกุ้งต้องใช้ทั้งประสบการณ์และวิชาการ การพัฒนาเทคโนโลยีต้องใช้ข้อมูลจากประสบการณ์ ต้องเอื้อกัน
“คุณภาพกุ้งอยู่ที่การจัดการสภาพแวดล้อมให้เหมาะ ซึ่งเราทำอยู่แล้ว แต่มีเทคโนโลยีมาช่วย ทำให้เราสะดวกขึ้น ไม่ต้องตีน้ำเว่อร์ มีตัวเลขบอกค่า คลายกังวลได้ และจะไปไหนมาไหนก็ง่ายขึ้น ไม่ต้องอยู่เฝ้าบ่อกุ้ง”
สำหรับ พัชรินทร์ ซึ่งได้ใช้งานระบบติดตามฯ นี้มาตั้งแต่ช่วงปี 2563 จากที่ไม่ได้คาดหวังว่าระบบจะช่วยอะไรมาก แต่เธอกลับพบว่าได้ประโยชน์อย่างมาก
“ตอนแรกคิดว่าเป็นเครื่องมือธรรมดาวัดค่า pH ค่า DO แต่พอติดตั้งแล้ว ช่วยเราได้เยอะ เพียงแต่เราต้องเอาสิ่งที่เกิดขึ้นมาวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะอะไร ทำไมค่านี้จึงสูง แล้วแก้ปัญหา เพราะการอยู่กับสัตว์น้ำ สิ่งสำคัญคือการแก้ปัญหาต้องไว”
จากการใช้งานระบบตรวจวัดติดตาม แจ้งเตือนค่าออกซิเจนที่ละลายในน้ำ (DO) แบบทันท่วงที และสถานีตรวจวัดอากาศเหนือบ่อเลี้ยงของทั้งสามฟาร์มมากว่า 2 ปี เป็นตัวอย่างการใช้เทคโนโลยี loT ที่ช่วยบริหารจัดการฟาร์มกุ้งแม่นยำ รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น สร้างความมั่นใจให้ผู้เลี้ยงและเป็นแนวทางการสร้างความเข้มแข็งให้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจของไทยเติบโตอย่างยั่งยืนได้
*************
ระบบติดตาม แจ้งเตือนสภาพบ่อเพาะเลี้ยงทั้งทางกายภาพ เคมี และชีวภาพด้วยเทคโนโลยี loT หรือ Aqua-loT อีกหนึ่งผลงานวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ได้ร่วมขยายผลการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัย ภายใต้ โครงการยกระดับผู้ประกอบการสัตว์น้ำด้วยระบบตรวจสอบสภาพบ่อเพาะเลี้ยงทั้งทางกายภาพ เคมีและชีวภาพด้วยเทคโนโลยี loT ในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยติดตั้งนำร่องใน 15 ฟาร์ม ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
Aqua-loT ประกอบด้วย ระบบตรวจวัดติดตาม แจ้งเตือนค่าออกซิเจนที่ละลายในน้ำ (DO) แบบทันท่วงที และสถานีตรวจวัดอากาศเหนือบ่อเพาะเลี้ยง (Pond Weather Station) ระบบอ่านค่าสารเคมีแทนการดูด้วยตา ระบบกล้องตรวจจุลชีวขนาดเล็กในน้ำ ระบบตรวจติดตามรูปแบบของจุลินทรีย์ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และชุดตรวจโรคกุ้งและปลา
ที่มา -สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร