นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากการที่ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มาเป็นประธานเปิดงาน “โครงการสืบสาน รักษา ต่อยอด ศูนย์เรียนรู้การผลิตพืช ตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” ณ สวนเฉลิมพระเกียรติ 55 พรรษา กรมวิชาการเกษตร ซึ่งในงานดังกล่าว รมว.เกษตร ได้ร่วมกิจกรรม ฉีดพ่นจุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังในนาข้าว และติดตามการย่อยสลายของตอซังฟางข้าว ภายหลังใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ทำปุ๋ยหมัก ซึ่งพบว่าฟางข้าวย่อยสลายได้ดี ช่วยลดการเผา และเป็นการเพิ่มอินทรีย์วัตถุในดิน และหว่านหัวเชื้อราไตรโคเดอร์มาสำหรับคลุกกับเมล็ดข้าว เพื่อป้องกันโรคพืชทางดิน ซึ่ง รมว.เกษตร สั่งให้กรมวิชาการเกษตร ผลักดัน ชีวภัณฑ์ทางการเกษตร และการใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ทำปุ๋ยหมัก เพื่อการลดใช้สารเคมีทางการเกษตร ลดปัญหาการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อเกษตรกร และผู้บริโภค จะเป็นการยกระดับมาตรฐานการผลิตพืช และผลิตภัณฑ์สู่เกษตรปลอดภัยอย่างยั่งยืน ลดการเผาตอซัง ตอบโจทย์นโยบายลด PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาได้ตรงจุด
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า หัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ทำปุ๋ยหมัก เป็นผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการย่อยวัสดุอินทรีย์ ให้เป็นปุ๋ยหมัก ในระยะเวลาที่สั้นลง นอกจากนี้ยังสามารถช่วยเร่งการย่อยตอซังฟางข้าวในนา และเศษซากพืชในพื้นที่เพาะปลูกได้โดยตรง ซึ่งการปลูกข้าวของเกษตรกร เมื่อทำการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว จะรีบปรับไถพื้นที่นา เพื่อการปลูกอย่างต่อเนื่องทันที โดยมักจะเผาตอซังและฟางข้าวที่เหลืออยู่ในนา เพื่อความสะดวกในการเตรียมแปลงปลูกข้าว ซึ่งเป็นการก่อให้เกิดมลพิษ เพิ่มภาวะโลกร้อน และทำลายสมดุลธรรมชาติ หัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ทำปุ๋ยหมัก จะช่วยเร่งระยะเวลาการเป็นปุ๋ยหมักให้เร็วขึ้น ใช้ย่อยสลายตอซังในนาข้าว/ใช้ย่อยสลายใบอ้อย/เศษซากพืชในพื้นที่เพาะปลูก นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในบ่อบำบัดน้ำเสีย และลดกลิ่นในบ่อเกรอะ ได้ด้วย
นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตร ยังมีงานวิจัยพัฒนาด้านชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืช อาทิ ชีวภัณฑ์เชื้อรา Trichoderma harzianum สายพันธุ์ DOA- TH 50 ที่ช่วยลดความเสียหายจากการเข้าทำลายของโรคทางดิน จากเชื้อโรคพืชที่ติดมากับเมล็ดซึ่งส่งผลต่อการงอก ช่วยการเจริญของพืชทางระบบราก ส่งเสริมการงอกของเมล็ดและการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งประโยชน์ของเชื้อรา Trichoderma harzianum สายพันธุ์ DOA- TH 50 สำหรับโรคพืชทางดิน คือ การใช้รองก้นหลุมก่อนปลูก เพื่อป้องกันกำจัดโรคตายพรายในกล้วย และการใช้คลุกเมล็ด เพื่อลดความเสียหายที่เกิดจากการเข้าทำลายของโรคพืชทางดิน ส่งเสริมความแข็งแรงและการเจริญเติบโต และเพิ่มเปอร์เซ็นต์ความงอกของเมล็ด
สำหรับชีวภัณฑ์แบคทีเรีย Bacillus subtilis สายพันธุ์ BS-DOA 24 ใช้ในการควบคุมโรคเหี่ยวที่เกิดจากแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum ในพืชตระกูลมะเขือ เช่น มะเขือเทศ พริก มันฝรั่ง มะเขือยาว มะเขือเปราะ และพืชตระกูลขิง เช่น ขิง ขมิ้น ข่า ไพล ปทุมมา โดยประโยชน์ของแบคทีเรีย Bacillus subtilis สายพันธุ์ BS-DOA 24 สำหรับแก้ปัญหาแก้โรคเหี่ยวที่เกิดจากแบคทีเรีย โดยทำการผสมน้ำรดต่อเนื่องทุก 30 วันในแปลงปลูก เพื่อป้องกันการเกิดโรคเหี่ยวใบพืชตระกูลมะเขือ และพืชตระกูลขิง ส่วนการคลุกเมล็ดและแช่หัวพันธุ์ จะช่วยลดความเสียหายที่เกิดจากการเข้าทำลายของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุโรคเหี่ยว ส่งเสริมความแข็งแรง และการเจริญเติบโต และเพิ่มเปอร์เซ็นต์ความงอก
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า การผลักดันหัวเชื้อจุลินทรีย์ ย่อยสลาย วัสดุอินทรีย์ทำปุ๋ยหมัก เร่งการย่อยสลายตอซังในนาข้าว และเชื้อราไตรโคเดอร์มา ลดความเสียหายจากการเข้าทำลายของโรคทางดิน ช่วยการเจริญของพืชทางระบบราก ส่งเสริมการงอกของเมล็ด การเจริญเติบโตของพืชและให้ผลผลิตสูง และ ชีวภัณฑ์แบคทีเรีย Bacillus subtilis สายพันธุ์ BS-DOA 24 ใช้ในการควบคุมโรคเหี่ยวที่เกิดจากแบคทีเรีย จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกร สนับสนุนนโยบายลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร สามารถนำไปใช้ผลิตพืชปลอดภัย สอดรับกับนโยบายของ รมว.เกษตร ลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร เกษตรต้องมีความปลอดภัย ยกระดับเพิ่มรายได้ 3 เท่า ใน 4 ปี