อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดงาน Kick Off วันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนและการป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ย้ำทุเรียนภาคเหนือ  ต้องไม่มีทุเรียนอ่อน ปลอดภัยจากหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน เพื่อรักษาชื่อเสียงและคุณภาพทุเรียนไทย

307018B3 1493 4636 BB0A 5A9F1FADAC95

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานเปิดงาน Kick Off วันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนและการป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ณ ตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์เป็นแหล่งรวบรวมผลผลิตทุเรียน และโรงคัดบรรจุที่สำคัญในเขตภาคเหนือตอนล่าง ปี 2566 มีผลผลิตทุเรียนที่ส่งออกไปยังประเทศจีน ของโรงคัดบรรจุในจังหวัดอุตรดิตถ์ จำนวน 694 ชิปเมนต์ ปริมาณ 11,844 ตัน มูลค่าการส่งออก 1,398 ล้านบาท ซึ่งการควบคุมคุณภาพสำหรับการส่งออก ผลผลิตต้องมาจากแปลง GAP มีการตรวจก่อนตัด (ตรวจ % น้ำหนักแห้งเนื้อทุเรียน)  โรงคัดบรรจุต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP มีเกณฑ์การจัดประเภทโรงคัดบรรจุเป็นสีเขียว เหลือง แดง ย้ำเตือนข้อกำหนดตามระเบียบกรมวิชาการเกษตร ว่าด้วยการรับรองแหล่งผลิตพืชตามมาตรฐาน ระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช พ.ศ. 2555 และ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับรองแหล่งผลิต GAP พืช รวมถึง ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียน โรงงานผลิตสินค้าพืช พ.ศ. 2563 หากฝ่าฝืนกรมวิชาการเกษตร จะดำเนินการพักใช้ ยกเลิก เพิกถอนใบ GAP ใบ DOA ตามระดับความร้ายแรงของการกระทำความผิด ผลผลิตทุเรียนทุกผลต้องมีคุณภาพตามมาตรฐาน มกษ.3-2556 มีใบรับรองสุขอนามัยพืช (PC) ได้มีการกำชับให้นายตรวจพืช ตรวจสอบคุณภาพทุเรียนตามพิธีสารการส่งออกทุเรียนไทยไปจีน ไม่ให้มีศัตรูพืชกักกัน เช่น เพลี้ยแป้ง หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ติดไปกับผลทุเรียนส่งออกอย่างเด็ดขาด โดยกรมวิชาการเกษตรจะเป้นผู้ตรวจก่อนปิดตู้ทุกครั้ง

6F045B93 47C5 40EB 8CED 26BF6E764D5F

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จากข้อกังวลในเรื่องหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่อาจจะติดไปกับผลผลิตทุเรียนที่ส่งออก ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีข้อสั่งการให้กรมวิชาการเกษตร นำองค์ความรู้ เทคโนโลยีการป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน และเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนที่ดี มาใช้ในการผลิตทุเรียนในพื้นที่เขตจังหวัดอุตรดิตถ์ รวมทั้งการกำกับ และควบคุมคุณภาพตั้งแต่แปลงผลิต โรงคัดบรรจุ จนถึงหน้าด่านตรวจพืช โดยทำงานบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งกรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ หน่วยงานระดับจังหวัด และหน่วยงานในพื้นที่เพื่อให้เกิดการควบคุมกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนในพื้นที่ปลูกทุเรียนจังหวัดอุตรดิตถ์และจังหวัดใกล้เคียง นายละเอียด ปั้นสุข ผู้อำนวยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 กล่าวว่า สวพ 2 และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุตรดิตถ์ จึงได้มีการประชุมประสานงานกับสำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์ เทศบาลและองค์กรบริหารส่วนตำบลที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนเกษตรกรปลูกทุชชชเรียน ในการสร้างการรับรู้ถึงผลกระทบของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ต่อการส่งออกทุเรียน และร่วมกันหาแนวทางวิธีการกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่เหมาะสมในพื้นที่ปลูกที่มีความลาดชัน และถูกล้อมรอบด้วยภูเขาสูง มาตรการกำจัดในการผลิตทุเรียนของภาคตะวันออก ประกอบด้วยแนวทางการดำเนินงาน 5 ขั้นตอน ดังนี้

14B4B14B F718 4AB9 89E9 A8C31DEB3EA9

ขั้นตอนที่ 1 ร่วมจัดทำแผนประชาสัมพันธ์ จดหมายข่าวให้กับผู้นำชุมชน กลุ่มเกษตรกร ในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อให้เกิดความตะหนักถึงผลกระทบซึ่งหากตรวจพบหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนทั้งในประเทศ และการส่งออก ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุตรดิตถ์ดำเนินการจัดทำแผ่นพับประชาสัมพันธ์ การป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน

873F05E3 1C01 4958 B0B3 F9BB78C8FC8B

ขั้นตอนที่ 2 ให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ ร่วมเป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยีการผลิตทุเรียน วิธีการป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนทั้งแบบวิธีผสมผสาน และการใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างถูกต้องให้กับกลุ่มเกษตรกร เกษตรกร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยต้องเร่งเข้าไปแนะนำให้ทันต่อช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงในการเข้าทำลายผลผลิตของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน

6709F8A1 898E 4054 AB1F 389E26FF4D79

ขั้นตอนที่ 3 เชิญผู้นำชุมชน ผู้แทนชุมชน ตัวแทนเกษตรกร เกษตรกร และเจ้าหน้าที่หน่วยงานปกครองในพื้นที่ของแต่ละพื้นที่ที่ปลูกทุเรียน ร่วมกันรณรงค์จัดกิจกรรมการป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนให้ขยายพื้นที่เป็นวงกว้าง (Kick off) ครอบคลุมพื้นที่ปลูกเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการเข้าถึงพื้นที่ปลูกที่ขาดการดูแลด้านศัตรูพืชในพื้นที่

AD2439B6 082A 4017 AD7E 5D2BC80F6265

ขั้นตอนที่ 4 การจัดทำแปลงต้นแบบแหล่งผลิตทุเรียนที่ดี สำหรับจุดเรียนรู้ของเกษตรกรด้านเทคโนโลยีการผลิต การใช้ปัจจัยการผลิต และวิธีการจัดการต่าง ๆ ในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอลับแล และอำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์

BDAF8D43 6932 45E5 8032 F8F9DDDC3811

ขั้นตอนที่ 5 การติดตามและขยายผล การควบคุมปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนและปัญหาทุเรียนอ่อนในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์

6BB884A7 5BE5 44B6 83C0 56336E8D2456

นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์ของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุตรดิตถ์ ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอลับแล สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ และสำนักงานเกษตรอำเภอท่าปลา หน่วยราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง และเกษตรกรในพื้นที่ ในกิจกรรมกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนให้ขยายพื้นที่เป็นวงกว้าง ได้แนะนำแนวทางวิธีการกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในแปลงปลูกแบบผสมผสาน ดังนี้

BC6BEF26 2BC6 4A2B B489 78DB839A70C3

(1) การเลือกใช้สารเคมีกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนถูกต้อง และเหมาะสม ได้แก่ การฉีดพ่นสารเคมีกำจัดดักแด้ของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่อยู่ในดิน เมื่อดินมีความชื้นที่เหมาะสม ส่วนการฉีดพ่นสารเคมีบนต้นทุเรียนให้เริ่มฉีดพ่นในระยะผลทุเรียนตั้งแต่อายุ 6 สัปดาห์หลังดอกบาน โดยฉีดพ่นทุก 5-7 วัน และหยุดพ่นก่อนเก็บเกี่ยว 7-10 วัน

(2) การแนะนำใช้ชีวภัณฑ์ในการกำจัดดักแด้ของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่อยู่ในดิน ด้วยวิธีการใช้เชื้อราเขียวเมตาไรเซียม หรือเชื้อราบิวเวอร์เรีย ในรูปแบบเชื้อสดอัตรา 400 กรัมต่อไร่ ผสมน้ำฉีดพ่นลงดินรอบทรงพุ่มในช่วงดินมีความชื้นเหมาะสมหรือเมื่อมีการตกของฝนแรกในพื้นที่ปลูก

(3) แนะนำให้เกษตรกรใช้กับดักแสงไฟ (หลอดแบล็คไลท์) ในแปลงปลูก และการแขวนเหยื่อพิษที่ต้นทุเรียน ในการล่อผีเสื้อกลางคืนหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน (ตัวเต็มวัย) ซึ่งผีเสื้อกลางคืนมีวงจรชีวิตประมาณ 7-10 วัน สามารถวางไข่ได้ 100-200 ฟองต่อตัว ซึ่งการกำจัดผีเสื้อจะช่วยลดปริมาณการเข้าทำลายของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่ผลผลิต  โดยคาดคะเนจากเวลาที่จับแม่ผีเสื้อตัวแรกได้และเวลาที่พบหนอนที่โตเต็มที่พร้อมเข้าดักแด้ห่างกันประมาณ 48 วัน จึงคาดว่าระยะตั้งแต่ผีเสื้อออกจากดักแด้ ผสมพันธุ์ วางไข่ และฟักไข่เป็นตัวหนอนจะประมาณ 10 วัน

การใช้ชีวภัณฑ์ในการกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ได้แก่ การใช้เชื้อราเขียวเมตาไรเซียม เชื้อราบิวเวอร์เรีย กรมวิชาการเกษตรมีความพร้อมนำมาร่วมผลิตขยายในพื้นที่ โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุตรดิตถ์ ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ มีความพร้อมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การขยายเชื้อราเขียวเมตาไรเซียม และเชื้อราบิวเวอเรียให้กับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ผู้สนใจ ในการนำไปใช้กำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนพร้อมกับการสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรผลิตใช้เองต่อไป

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า การรักษาคุณภาพของทุเรียนในจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุเรียน หลง หลิน ต้องมีการพัฒนาสายพันธุ์ทุเรียนให้มีคุณภาพ มีการจัดการสวนที่ดี การจัดการดิน น้ำ ต้องเหมาะสม ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้บูรณาการร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมชลประทาน หน่วยงานระดับจังหวัด ในการพัฒนาทิศทางการจัดการร่วมกัน  ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ซึ่งกิจกรรมในวันนี้ ถือว่าเป็นการตรวจติดตามผลการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ในแปลงปลูกพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ และเป็นการ Kick off การคุมเข้มการแก้ไขปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง เพื่อทำให้ผลผลิตทุเรียนมีคุณภาพตามมาตรฐานการส่งออก ไม่ให้เกิดปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนติดไปกับผลผลิตทุเรียนทั้งในการบริโภคภายในประเทศ และการส่งออกผลผลิตไปยังประเทศจีน ตามข้อสั่งการของ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์