นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย สามารถผลิตน้ำมันปาล์มได้มากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งประเทศไทยให้ความสำคัญกับการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ได้ตามมาตรฐาน RSPO มาอย่างต่อเนื่อง โดยสถานการณ์การผลิตในปี 2567 จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่ที่มีการปลูกปาล์มน้ำมันเป็นอันดับ 1 ของประเทศ มีพื้นที่ยืนต้น 1,503,325 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ร้อยละ 2.97 เนื่องจากราคาปาล์มน้ำมันอยู่ในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับทิศทางแนวโน้มความต้องการใช้ปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรปลูกทดแทนในพื้นที่ปาล์มน้ำมันที่มีอายุมากและพื้นที่ปลูกยางพารา โดยมีเนื้อที่ให้ผลผลิต จำนวน 1,419,892 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ร้อยละ 2.57 (เนื่องจากปาล์มน้ำมันที่ปลูกในปี 2564 เริ่มให้ผลผลิต) มีปริมาณผลผลิตรวมจำนวน 4,434,323 ตัน ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 1.92 มีปริมาณผลผลิตต่อไร่ จำนวน 3,123 กิโลกรัม/ไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว ร้อยละ 4.38 เนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย แล้งและอุณหภูมิสูง ประกอบกับ ปี 2566 ฝนทิ้งช่วงยาวนานเกินกว่า 4 เดือน ทำให้ต้นไม่สมบูรณ์ หลายแปลงทางใบพับ ทะลายแห้งฝ่อ น้ำหนักต่อทะลายลดลง
สำหรับศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรโดยเน้นปาล์มน้ำมันเป็นสินค้าหลัก มีเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันจำนวน 4,119 ราย พื้นที่รวม 92,559.24 ไร่ ได้รับรองมาตรฐาน RSPO แล้ว จำนวน 3,524 ราย พื้นที่ 82,178.31 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 85.55 รับการตรวจประเมินแล้วอยู่ระหว่างแก้ไขความไม่สอดคล้องจำนวน 77 ราย พื้นที่ 1,765.06 ไร่ และอยู่ระหว่างการดำเนินการจำนวน 518 ราย พื้นที่ 8,615.87 ไร่ และ ศพก. ดังกล่าวยังเป็นจุดประสานงานกลางระหว่างภาคเกษตรกร และภาครัฐ มีการประชาสัมพันธ์แจ้งข้อมูลข่าวสารและเตือนภัยให้แก่เกษตรกรทราบได้อย่างทันต่อสถานการณ์ ช่วยสอดส่องดูแลการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรและปัจจัยการผลิตที่ผิดกฎหมาย เพื่อประสานเจ้าหน้าที่ดำเนินการทางกฎหมาย อีกทั้งสนับสนุนความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตสินค้าและบริการท้องถิ่น รวมถึงผลักดันไปสู่การเป็นสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง พร้อมทั้งส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรเข้าสู่ระบบการประกันภัยพืชผลทางการเกษตร เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการประกอบกิจกรรมทางการเกษตร การเป็นผู้ให้บริการทางการเกษตรแบบครบวงจรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Go Green) ด้วย BCG รวมทั้งยังเป็นศูนย์บริการเกษตรพิรุณราช (เครือข่าย) ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ เพื่อรองรับข้อร้องเรียนร้องทุกข์ของเกษตรกรในพื้นที่อีกด้วย
นายพีรพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการบูรณาการหน่วยงานทั้งในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่น ๆ โดยใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการแก้ปัญหาให้ชุมชน และเกษตรกรต้นแบบ นายสุมาตร อินทรมณี เป็นผู้นำที่มีความเสียสละ มีความมุ่งมั่น ในการส่งเสริม พัฒนางาน ช่วยเหลือเกษตรกรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเกษตรกร กับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและนอกพื้นที่ ส่งผลให้ ศพก. มีความสำเร็จโดดเด่นหลายด้าน ได้แก่ 1) ด้านการแก้ไขปัญหาดินในพื้นที่เพาะปลูกเป็นกรดรุนแรง (pH 3.5) ซึ่งไม่เหมาะสำหรับการปลูกพืช โดยปรับสภาพดินด้วยการเปิดน้ำท่วมพื้นที่อาทิตย์ละครั้ง ๆ ละครึ่งวัน แล้วปล่อยออก ทำทุก 2 เดือน สามารถแก้ปัญหาจากดินเปรี้ยวให้เป็นดินจืด หลังจากนั้นจึงใส่ปูนขาว ปีละ 1 ครั้งเพื่อปรับสภาพดิน ตามด้วยการใช้ปุ๋ยตามความต้องการของพืช ทำให้ปัจจุบันดินมีสภาพดี (pH 5.5 – 6.5) เหมาะสมที่จะใช้ในการเพาะปลูกได้ 2) ด้านการเพิ่มผลผลิต โดยเพิ่มผลผลิตจาก 3,500 กก./ไร่ เป็น 5,500 – 7,200 กก./ไร่ ด้วยการใช้ปุ๋ยผสมตามความต้องการของพืช การบริหารจัดการน้ำตามสภาพพื้นที่ และการจัดการสวนที่ยั่งยืนคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม 3) ด้านการลดต้นทุนในการผลิตปาล์มน้ำมันโดยใช้ปุ๋ยตามความต้องการของพืชและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ลดต้นทุนการเลี้ยงปลาหมอในกระชังด้วยการใช้แหนแดงเป็นอาหาร และลดต้นทุนอาหารไก่พื้นเมืองโดยใช้ผิวมะพร้าวซึ่งเป็นเศษเหลือจากกระบวนการผลิตมะพร้าวขาวที่เกษตรกรส่วนใหญ่นำไปทิ้ง มาเป็นอาหารไก่ 4) ด้านการบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการปลูกพืชร่วมในสวนปาล์มน้ำมัน เช่น ปลูกเตยหอมริมร่องสวน ปลูกกล้วยตานีตัดใบในร่องสวน เลี้ยงหอยขมในร่องสวน เลี้ยงผึ้ง และเลี้ยงไก่พื้นเมืองเพื่อกำจัดศัตรูปาล์มน้ำมันในสวน ด้วยวิธีการบริหารจัดการที่ลงตัวเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน และในอนาคตมีแผนพัฒนาให้เป็น ศพก. ที่ขยายผลงานวิจัยมาสู่เกษตรกรในพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาให้ชุมชน สร้างผลิตภัณฑ์จากผลผลิตที่มีในชุมชนให้เกิดมูลค่าสูงสุด พัฒนาให้เป็น ศพก.ต้นแบบ เรื่องการลดต้นทุนการผลิต และขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และการท่องเที่ยวเชิงเกษตรในชุมชน