ม.มหิดลคิดค้นเทคนิคผลิตไบโอดีเซลบริสุทธิ์ร้อยละ 97 จาก‘กรดไขมันรำข้าว’ลดมลภาวะ PM2.5

ปัญหามลภาวะ PM2.5 ในประเทศไทยมีจำนวนไม่น้อยเกิดมาจากกิจกรรมจากภาคการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการเผาทำลายวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเป็นจำนวนมากในแต่ละครั้งอย่างต่อเนื่อง

ด้วยปณิธาน “ปัญญาของแผ่นดิน” เพื่อมวลมนุษยชาติ ของมหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้กลายเป็นโจทย์ท้าทายที่ว่าจะนำ ”ส่วนเหลือทิ้ง“ จากภาคการเกษตรไปทำให้เกิดประโยชน์อย่างไรให้ได้มากที่สุด โดยส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

messageImage 1716967768406
ดร.ณัฐธีร์ อัครวัฒน์โฆษิต

รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐธีร์ อัครวัฒน์โฆษิต อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คือตัวอย่างของอาจารย์นวัตกรรุ่นใหม่ผู้ไม่เคยปล่อยผ่านโอกาสที่จะสร้างสรรค์และพัฒนาทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แม้ส่วนเหลือทิ้งจากภาคการเกษตรอย่างเช่น “กรดไขมันรำข้าว” ที่มีเป็นจำนวนมากในการผลิตข้าวสาร/น้ำมันรำข้าวแต่ละครั้ง

messageImage 1716969165657

โดยได้นำมาผ่านกระบวนการผลิตจนได้น้ำมันไบโอดีเซลที่มีความบริสุทธิ์ถึงร้อยละ 97 ภายในระยะเวลาเพียง 35 นาที ภายใต้การทำปฏิกิริยา “เอสเทอริฟิเคชั่น” (Esterification Reaction)

ซึ่งตามมาตรฐานการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลที่อิงตามมาตรฐานในระดับนานาชาติกำหนดคุณภาพความบริสุทธิ์ไว้ที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 96.5 แม้ทางผู้วิจัยจะสามารถผลิตได้ที่ความบริสุทธิ์ร้อยละ 97 แต่ก็ยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้มีความบริสุทธิ์ยิ่งขึ้นไปอีก โดยได้ตั้งเป้าหมายไว้ถึงร้อยละ 99 เนื่องจากน้ำมันไบโอดีเซลที่ได้จากการผลิต ยิ่งมีความบริสุทธิ์มากเพียงใด ยิ่งหมายถึงการห่างไกลจากมลภาวะ และดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

messageImage 1716969177440

นอกจากนี้ ยังสามารถแก้ปัญหาราคาต้นทุนการผลิตด้วยวัสดุคุณภาพรองลงมา โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลคุณภาพ

ทำโรงงานผลิต ให้เป็น “โรงงานสีเขียว” ด้วยเทคโนโลยีที่ใช้แพร่หลายในสหรัฐอเมริกา และยุโรป โดยผู้วิจัยสามารถนำมาบุกเบิกประยุกต์ใช้กับการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล และใช้แพลตฟอร์มต่อยอดส่วนเหลือทิ้งทางการเกษตรอื่นๆ ได้อีก อาทิ ส่าข้าวโพด หรือน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว ฯลฯ โดยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ “Non-catalytic and glycerol-free biodiesel production from rice bran oil fatty acid distillate in a microreactor“

ผู้วิจัยพร้อมเป็นความหวัง-สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย และส่งเสริมเศรษฐกิจชาติ โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แม้ปัจจุบันจะอยู่ในขั้นตอนการทำต้นแบบ (Prototype) แต่หากพัฒนาจนสามารถนำไปต่อยอดให้ใช้ได้จริงอย่างแพร่หลาย คาดว่าจะช่วยประเทศชาติประหยัดได้ถึง 2 เท่า

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th