นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ และศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวจังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมสนับสนุนเกษตรกรลดการเผาไหม้ตอซังในนาข้าวเพื่อเพิ่มจุลินทรีย์ในดิน ซึ่งทางกรมการข้าวมีมาตรการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในการย่อยสลายตอซังให้หยุดการเผาในพื้นที่ไร่นาของตนเอง โดยกรมการข้าวได้พัฒนาจุลินทรีย์ที่มีความเข้มข้นสูงที่จะสามารถใช้ย่อยสลายตอซังในนาข้าวได้ภายใน 7 วัน และเกษตรกรสามารถติดต่อขอรับเชื้อจุลินทรีย์ได้ที่สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ เพื่อลดต้นทุนการผลิต ลดสภาพหมอกควันในภูมิอากาศและยังช่วยเพิ่มแร่ธาตุให้กับดินในพื้นที่ของเกษตรกรอีกด้วย
อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ โดยทีมนักวิชาการกรมการข้าว ได้ผลิต “หัวเชื้อจุลินทรีย์ ย่อยสลายฟางชนิดสูตรสำเร็จ” เพื่อที่จะแจกจ่ายให้กับเกษตรกร เนื่องจากมีวัตถุประสงค์ให้เกษตรกรหยุดการเผาไร่นา กรมการข้าวได้มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรโดยหาสิ่งที่มาทดแทนในการย่อยสลายตอซังด้วยวิธีส่งเสริมปลอดการเผา กรมการข้าวจึงได้พัฒนาจุลินทรีย์ขึ้นมา อีกทั้ง ปกติจุลินทรีย์ทั่วไปจะสามารถย่อยสลายตอซังใช้ระยะเวลาในการทำปฏิกิริยาหลังจากพ่นลงในนาข้าว อย่างน้อย 2 สัปดาห์ แต่ในวันนี้หลังจากที่กรมการข้าวได้คิดค้นพัฒนาจุลินทรีย์ตัวนี้ขึ้นมา โดยมีประสิทธิภาพความเข้มข้นสูงและเป็นสายพันธุ์เฉพาะ จะสามารถย่อยสลายได้เพียงใน 7 วัน และที่สำคัญเกษตรกรสามารถมารับเชื้อจุลินทรีย์ได้ฟรี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดต้นทุนการผลิต และลดสภาพศหมอกควัน รวมทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถือว่าเป็นโอกาสที่จำเป็นที่จะต้องหยุดการเผาให้ได้ในประเทศไทยและหันมาใช้จุลินทรีย์ตัวนี้
นางสาวอมรรัตน์ อินทร์มั่น ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ กล่าวว่า ทางสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ ได้พยายามที่จะคิดค้นหาเทคโนโลยีที่จะเข้ามาลดปริมาณ PM 2.5 ซึ่งในส่วนมากปริมาณ PM 2.5 นี้ มีสาเหตุหลักๆ มาจากการที่เกษตรกรได้มีการเผาฟาง ทั้งนี้ จึงเป็นที่มาของการคิดค้นเทคโนโลยีที่จะทำอย่างไรให้เกษตรกรไม่เผาฟาง และได้มีการคิดค้นในส่วนของจุลินทรีย์ชีวภัณฑ์ที่จะมาช่วยในการย่อยสลายต่อซัง ย่อยสลายกองฟางในนาข้าว จากเดิมเกษตรกรที่ได้มีการใช้จุลินทร์หลายๆตัว พบว่าจะใช้เวลาในการย่อยสลายค่อนข้างนาน ประมาณ 2-3 อาทิตย์ แต่ทางสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติได้คิดค้นจุลินทรีย์ที่สามารถย่อยสลายฟางได้ภายในเวลา 7-10 วัน มีประสิทธิภาพค่อนข้างดีและเป็นการเพิ่มปริมาณธาตุอาหารให้กับนาข้าว ลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้สูงสุด 20% – 30% และขณะนี้ได้เริ่มมีการขยายเชื้อจุลินทรีย์ในระยะแรก ซึ่งตอนนี้เกษตรกรสามารถมารับจุลินทรีย์ย่อยสลายฟางได้ที่สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ
อธิบดีกรมการข้าว กล่าวต่ออีกว่า ด้วยภาพรวมของกรมการข้าวที่ได้พัฒนาจุลินทรีย์ประสบความสำเร็จ แต่ปัญหาในขณะนี้ คือ กำลังการผลิตของกรมการข้าวไม่เพียงพอ ซึ่งเดือนนึงจะสามารถผลิตได้ 500-1,000 ซอง ทั้งนี้ พบปัญหาอุปสรรคในเรื่องของอุปกรณ์เครื่องมือที่ไม่เพียงพอ ซึ่งขณะนี้ตนได้มีการสั่งเพิ่มกำลังการผลิตเข้าไปเพื่อที่จะรองรับความต้องการของเกษตรกรมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ ภาคกลางที่ทำนา
อย่างไรก็ตาม “ขอเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรที่ทำนา มีความต้องการสารจุลินทรีย์ย่อยสลายตอซัง พร้อม ลด ละ เลิก การเผาตอซัง และต้องการศึกษาความรู้ ท่านสามารถมาได้ ณ สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดภายใต้กรมการข้าว จึงอยากจะขอเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรร่วมมือกันรณรงค์ให้หยุดเผาให้ได้ วันนี้เรามีสิ่งที่มาชดเชยให้พี่น้องเกษตรกรแล้ว ก็อยากฝากประชาสัมพันธ์ไปยังหน่วยงาน และทุกท่านที่ติดตามข่าวสารนี้สามารถประสานมาได้ที่กรมการข้าว หรือเข้ามาศึกษาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ของกรมการข้าว และขอรับเชื้อได้ที่สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ จ.สุพรรณบุรี โดยรับฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย และเราพร้อมมากที่จะบริการประชาชน” อธิบดีกรมการข้าว กล่าว