นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรสนองงานตามพระราชดำรัสของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงให้ไว้ ณ วันอังคารที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2557 ความว่า
“…อีกอย่างคือ ในชุมชนหรือครอบครัว ความตั้งใจมีอยู่ว่าไม่ใช่แค่พัฒนาโรงเรียนเท่านั้น เมื่อโรงเรียนดีแล้วก็จะเป็นจุดที่ขยายโอกาส และขยายความรู้การปฏิบัติงานเข้าไปในชุมชน นอกจากให้ชุมชนเข้ามาช่วยเหลือแล้ว ก็ต้องปฏิบัติการในชุมชน เช่น งานเกษตร เพื่อให้ชุมชนสามารถได้รับประโยชน์นี้ หรืออุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมขนาดเล็ก ก็สามารถให้ชุมชนปฏิบัติงานอุตสาหกรรมนั้นได้ เพราะเป็นที่ที่เราเข้าไปเห็นเข้าไปถึง อะไรที่ยังไม่ดี ยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรเราก็ต้องทำหรือว่าก้าวหน้าแล้ว ก็ต้องให้ก้าวหน้าหรือดียิ่งขึ้น ให้ทุกคนพร้อมทุกด้านทั้งทางด้านร่างกาย ด้านความอยู่เย็นเป็นสุข ด้านจริยธรรมก็เป็นเรื่องสำคัญ…”
โดยสนองงานในรูปแบบโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งดำเนินการแล้วในพื้นที่ 51 จังหวัด รวมจำนวน 798 โรงเรียน ซึ่งมีเป้าหมายในเรื่องการเพิ่มศักยภาพของเยาวชนในด้านการเกษตร โรงเรียนมีผลผลิตไปประกอบเลี้ยงเป็นอาหารกลางวันเพียงพอกับนักเรียนในแต่ละภาคการศึกษา มีสารอาหารและคุณค่าทางโภชนาการที่ครบถ้วน เหมาะสมสำหรับเด็กในวัยเรียน เพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโตทางด้านร่างกายและสมอง ตลอดจนนำความรู้ด้านการเกษตรถ่ายทอดสู่ครู นักเรียน และผู้ปกครอง ให้ได้รับองค์ความรู้ เกิดทัศนคติที่ดีต่ออาชีพการเกษตร เสริมสร้างทักษะด้านการเกษตรเป็นอาชีพเสริม
นายครองศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ขยายผลการดำเนินงานภายใต้โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน จากโรงเรียนสู่ระดับครัวเรือนของหมู่บ้านที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนตั้งอยู่ จำนวน 222 หมู่บ้าน เพื่อพัฒนาอาชีพด้านการเกษตร โดยลดรายจ่าย มีรายได้เสริมหมุนเวียนในครัวเรือน โดยโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ เป็นหนึ่งในโรงเรียนเป้าหมายที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้เข้าไปดำเนินการ โดยอบรมถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านการเกษตร ได้แก่ หลักสูตรการผลิตพืช การขยายพันธุ์พืช การผลิตและการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืช การป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูพืชแบบผสมผสาน และกระบวนการแปรรูปถนอมอาหารจากผลผลิตทางการเกษตร สนับสนุนปัจจัยการผลิต ให้คำปรึกษา พร้อมติดตามผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง มุ่งเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมให้ครู นักเรียน และผู้ปกครองเรียนรู้ ร่วมกันทำการเกษตร แบบผสมผสาน พัฒนาโรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตร สามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในครัวเรือนและขยายผลไปสู่ชุมชน
ในส่วนของผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบัน ด้วยความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตร โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ จังหวัดสุรินทร์ และหน่วยงานภาคี ส่งผลให้ชุมชนมีการพัฒนาการสร้างอาชีพ การทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งส่งผลดีกับตนเอง ครอบครัวและผู้บริโภค ตลอดจนมีการเพิ่มศักยภาพ การพึ่งตนเองในระดับครัวเรือน เป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งในระดับชุมชน จนเกิดเป็นกลุ่มส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน จำนวน 2 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชนบ้านโพธิ์ทอง หมู่ที่ 7 ตำบลตะเคียน อำเภอกาบเชิง สมาชิกจำนวน 50 ราย มีการดำเนินกิจกรรม ได้แก่ การทำลูกประคบสมุนไพร การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ เค้กกล้วยหอม กล้วยฉาบ และขนมดอกจอก การเลี้ยงกบ กลุ่มมีรายได้เฉลี่ย 8,000 บาท/เดือน และกลุ่มมีเงินออมรวม จำนวน 128,332 บาท สมาชิกกลุ่มมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 10,000 บาท/เดือน สามารถลดรายจ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือน 400 บาท/เดือน คิดเป็นร้อยละ 4 มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น 700 บาท/เดือน คิดเป็นร้อยละ 7
2. กลุ่มส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชนบ้านร่มราษฎร์ หมู่ที่ 5 ตำบลตะเคียน อำเภอกาบเชิง สมาชิก จำนวน 50 ราย มีการดำเนินกิจกรรม ได้แก่ การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ ปลาดุกข้าวคั่ว และปลาร้าปลาดุก การทำตะกร้าพลาสติก การทำพรมเช็ดเท้า กลุ่มมีรายได้เฉลี่ย 3,500 บาท/เดือน และกลุ่มมีเงินออมรวม จำนวน 32,070 บาท สมาชิกกลุ่มมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 10,000 บาท/เดือน สามารถลดรายจ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือน 500 บาท/เดือน คิดเป็นร้อยละ 5 มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น 800 บาท/เดือน คิดเป็นร้อยละ 8
นายครองศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า จากจุดเริ่มต้นด้วยการนำองค์ความรู้ด้านการเกษตร และปัจจัยทางการเกษตร ส่งมอบต่อโรงเรียนในเขตทุรกันดารโดยหวังผลเพื่อให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนได้รับสารอาหารที่เพียงพอ ในตอนนี้ได้ต่อยอด ขยายผล สู่การสร้างอาชีพ สร้างรายได้สู่ครัวเรือน ซึ่งผลจากความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน จะเป็นต้นแบบการเสริมสร้างความเข้มแข็งในระดับชุมชน และเป็นต้นแบบการขยายผลจากโรงเรียนสู่ชุมชนในพื้นที่อื่น ๆ ได้ต่อไป