กรมหม่อนไหมจับมือ 18 หน่วยงาน ในจังหวัดสุรินทร์ ขับเคลื่อนหม่อนไหม ภายใต้โครงการ “ไหมพันล้านแก้จนคนสุรินทร์”

138231

วันที่ 21 พฤษภาคม 2567 พันจ่าเอก ประเสริฐ มาลัย อธิบดีกรมหม่อนไหม ร่วมกับนายพิจิตร บุญทัน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์เป็นประธานเปิดกิจกรรม Kick Off โครงการ “ไหมพันล้านแก้จนคนสุรินทร์” ณ พื้นที่ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม บ้านตะเคียน หมู่ที่ 14 ตำบลสวาย อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ พร้อมด้วยนางจิตติพร จินดาแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เขต 4 นายโสภณ ยอดพรหม ผู้อำนวยการศูนย์หม่อนเฉลิมพระเกียรติฯ สุรินทร์ และเจ้าหน้าที่กรมหม่อนไหม ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดสุรินทร์ ภาคีเครือข่ายภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารสังคม เข้าร่วมกิจกรรม โดยโครงการดังกล่าวจะขยายผลไปยังพื้นที่เป้าหมายดำเนินการ 316 แห่ง ครอบคลุมทั้งจังหวัดสุรินทร์ โดยเป็นพื้นที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จำนวน 677 ไร่ 1 งาน 23 ตารางวา

138232

ทั้งนี้ ที่มาของโครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน “ไหมพันล้านแก้จนคนสุรินทร์” เกิดจากแนวคิดจากการที่จังหวัดสุรินทร์ซึ่งเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมและผ้าพื้นเมืองระดับประเทศ มีมูลค่าการจำหน่ายในปี 2566 สูงถึง 2,136.88 ล้านบาท แต่ต้องสั่งซื้อเส้นไหมจากภายนอกจังหวัดมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี จึงจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้คนสุรินทร์หันมาปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเอง เพื่อลดปริมาณการสั่งซื้อเส้นไหมจากภายนอก เป็นการลดต้นทุนการผลิต มีกระบวนการเลี้ยงไหมโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบดั้งเดิมให้ได้เส้นไหมแบบธรรมชาติ เพื่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนสืบทอดและอนุรักษ์ภูมิปัญญาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของคนสุรินทร์ให้คงอยู่สืบไป

138233

โดยกรมหม่อนไหมได้สนับสนุนหม่อนพันธุ์ดี จำนวน 269,000 ต้น ให้แก่ที่ปรึกษาและประธานศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมระดับจังหวัด นายอำเภอทุกอำเภอในจังหวัดสุรินทร์ พร้อมเป็นหน่วยงานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ดังกล่าวที่จะสนับสนุนด้านองค์ความรู้ วิชาการ และปัจจัยการผลิต

138234

นอกจากนี้อธิบดีกรมหม่อนไหมยังได้เยี่ยมชมพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ฯ นิทรรศการของส่วนราชการ กลุ่มองค์กร เครือข่ายในพื้นที่ ร่วมกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ปลูกต้นไม้ประจำจังหวัดและพืชให้สี (ต้นกันเกรา และเมล็ดคราม) ปลูกหม่อนพันธุ์ดี (พันธุ์เชียงใหม่ และพันธุ์บุรีรัมย์ 60) และปล่อยพันธุ์ปลาน้ำจืด เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารอีกด้วย

138235
138238
138239
138240
138241
138243
138244
138245
138246
138247
138249
138251
138252
138253