อธิบดีกรมการค้าภายใน นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม เปิดเผยว่า ปี 2567 นี้ ถือเป็นปีทองอีกปีหนึ่งสำหรับผลไม้ไทย เพาะราคาผลไม้ที่กำลังออกสู่ตลาดขณะนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยสัปดาห์ก่อน ทุเรียน เกรดส่งออก หรือเกรด AB ภาคตะวันออกเฉลี่ยกิโลกรัม (กก.) ละ 170-185 บาท เพิ่มขึ้น 18% จากราคาปี 66 ที่เฉลี่ย กก.ละ 150 บาท ส่วนเกรดส่งออกรอง หรือเกรด C กก.ละ 120-135 บาท เพิ่ม 16% จากปี 66 ที่เฉลี่ย กก.ละ 110 บาท และตกเกรด หรือเกรด D กก.ละ 110-120 บาท เพิ่ม 15% จากปี 66 ที่เฉลี่ย 100 บาท
อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวอีกว่า ผลไม้อื่นๆ ก็ปรับราคาได้ดี เช่น เงาะโรงเรียน เกรดส่งออก กก.ละ 35-37 บาท เพิ่ม 3% จากปี 66 ที่เฉลี่ย กก.ละ 35 บาท เกรดในประเทศ กก.ละ 25-32 บาท เพิ่มจาก 2% จากปี 66 ที่เฉลี่ย กก.ละ 23 บาท เงาะพันธุ์สีทอง เกรดส่งออก กก.ละ 23-26 บาท เพิ่มขึ้น 7% จากปี 66 ที่เฉลี่ย กก.ละ 23 บาท และเกรดในประเทศ กก.ละ 19-20 บาท เพิ่ม 14% จากปี 66 ที่เฉลี่ย กก.ละ 18 บาท, ลองกอง เบอร์ 1 เบอร์ 2 และเบอร์ 3 กก.ละ 60-90 บาท, 55-75 บาท และ 45-60 บาทตามลำดับ จากปี 66 ที่เฉลี่ย กก.ละ 75 บาท, 50 บาท และ 52 บาทตามลำดับ
นายวัฒนศักย์กล่าวว่า ยกเว้น มังคุด ภาคตะวันออก ที่ราคาลดลง โดยเกรดส่งออก กก.ละ 78.50-80.50 บาท ลดลง 21% จากปี 66 ที่เฉลี่ย 100 บาท ส่วนเกรดส่งออกรอง หรือกากลาย กก.ละ 62.6-64.09 บาท ลดลง 11.65% จากเฉลี่ยปี 66 ที่ กก.ละ 75 บาท และเกรดคละ กก.ละ 55-60 บาท ลดลง 13.50% จากปี 66 ที่เฉลี่ย กก.ละ 71 บาท
เขายังกล่าวถึงปัญหาภัยแล้ง ว่า ภัยแล้งทำให้ผลผลิตมังคุดมีขนาดลูกเล็กลง กลายเป็นมังคุดตกเกรดสำหรับการส่งออก แต่รสชาติอร่อย เปลือกบาง จึงอยากรณรงค์ให้คนไทยบริโภคให้มากขึ้น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ส่วนผลไม้ชนิดอื่นๆ ที่ยังไม่ออกสู่ตลาดขณะนี้ ทั้งลำไย ลิ้นจี่ ลองกอง กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมมาตรการบริหารจัดการผลไม้ไว้แล้ว เพื่อให้ราคามีเสถียรภาพในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกัน อย่างลำไย ได้เตรียมประสานผู้ซื้อให้ทำลำไยอบแห้งไว้แล้ว เพราะมีความต้องการซื้อจากจีนจำนวนมาก เชื่อว่าผลผลิตจากไทยไม่พอขายแน่นอน” นายวัฒนศักย์กล่าว
ด้าน นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ปี 2567 นี้ราคาทุเรียนดีมาก แม้ผลผลิตออกสู่ตลาดแล้วเกือบ 80% คาดว่า ปลายฤดูกาล ราคาน่าจะขยับขึ้นได้อีก ส่วนมังคุด สาเหตุที่ราคาลดลงเมื่อเทียบกับปี 2566 เพราะภัยแล้งทำให้ผลผลิตมังคุดไทยออกเร็ว ตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับผลผลิตของเวียดนามพอดี จึงมีการแข่งขันกันส่งออกไปเวียดนาม และฉุดให้ราคาลดลงบ้าง แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปี 2565 อย่างเกรดส่งออกปี 2565 กก.ละ 61 บาท แต่ปีนี้ กก.ละ 78.50-80.50 บาท, เกรดส่งออกรอง ปี 2565 กก.ละ 50 บาท ปีนี้ กก.ละ 62.6-64 บาท เป็นต้น
“เข้าสู่หน้าฝน การเก็บมังคุดอาจกระจุกตัวจำนวนมาก และอาจทำให้ราคาผันผวน ซึ่งกรมได้เตรียมประสานปั๊มน้ำมัน 4 ราย คือ พีที, บางจาก, ปตท. และเชลส์ ให้เข้าไปช่วยรับซื้อและนำมาแจกจ่ายให้กับผู้เติมน้ำมันในปั๊ม ปริมาณไม่ต่ำกว่า 1,500 ตัน เพื่อช่วยพยุงราคาไม่ให้ลดลง” นายกรนิจกล่าว