นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ศักดินัย นุ่มหนู สส.ตราด เขต 1, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ เบญจา แสงจันทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมขึ้นเวทีเปิดตัว “ชลธี นุ่มหนู” ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.ตราด ณ วัดหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดตราด
พิธา กล่าวว่า ตราดเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ชอบ จะมีกี่จังหวัดที่มีสภาพอากาศฝนแปดแดดสี่ เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการเพาะปลูก มีทั้งเรื่องของการเกษตร การประมง การค้าชายแดน มีเขาป่านาเล เป็นพื้นที่ที่มีความพร้อม จึงต้องตั้งคำถามว่าเหตุใดรายได้ต่อหัวของคนตราดตลอด 10 ปีที่ผ่านมา จึงไม่เพิ่มขึ้นเสียที
หากดูเรื่องการจัดสรรงบประมาณ ทั้งที่การเกษตรถือเป็นส่วนสำคัญของจังหวัดตราด แต่งบของจังหวัดในปี 67 ทั้งหมด 265 ล้านบาท เป็นงบการเกษตรเพียง 0.52% ดังนั้นงบของ อบจ. ต้องมีการบริหารจัดการใหม่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด นี่เป็นหน้าที่แรกที่นายก อบจ. ต้องเข้าไปแก้ไข ต้องเกาให้ถูกที่คัน ให้มีการลงทุนเพื่อเกษตรกร
พิธา กล่าวว่า มาตราดวันนี้ เพื่อตามหาชัยชนะให้ ผอ.ตู่ ชลธี นุ่มหนู อดีตผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 จ.จันทบุรี เป็นคนที่ทำงานด้านการเกษตรมายาวนาน เหตุผลสำคัญที่ประชาชนควรเลือกผู้สมัครนายก อบจ.ก้าวไกล เลือกชลธี นุ่มหนู เพราะจะทำให้การทำงานไร้รอยต่อ ซึ่งไม่ใช่เพราะนามสกุล แต่เพราะการทำงาน การแก้กฎหมายต่างๆ ในสภาฯ กฎหมายประมง ท้องถิ่นจะประสานงานกับ สส. นายชลธี มีความสามารถและประสบการณ์ตรง พิสูจน์ด้วยการทำงานหลายสิบปีในกระทรวงเกษตรฯ
.
พิธากล่าวว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่เหมือนเลือกตั้งระดับชาติ เพราะไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้าหรือเลือกตั้งข้ามเขต ตนจึงต้องขอความร่วมมือจากหัวคะแนนธรรมชาติในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า การเลือกตั้ง อบจ. สำคัญไม่แพ้การเลือกตั้ง สส. ประชาชนที่รักประชาธิปไตย รักอนาคตตราด รักพรรคก้าวไกล ขอให้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ. ให้ถล่มทลาย เคยร่วมมือร่วมใจเลือก ศักดินัย นุ่มหนู ให้เป็น สส.ตราด อย่างไร ขอให้เลือก ชลธี อย่างนั้น ถ้าออกมาใช้เสียงไม่มากพอ กระสุนอาจชนะกระแส หากออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งกันเยอะๆ พื้นที่ อบจ. จะเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายของเราที่ทำให้ตราดเปลี่ยนได้
ทั้งนี้ก่อนร่วมเวทีเปิดตัวผู้สมัครนายก อบจ.ตราด ของพรรคก้าวไกล พิธาได้เดินทางไปเยี่ยมชมและรับฟังปัญหาพี่น้องเกษตรกรสวนทุเรียน-มังคุด ที่กำลังประสบปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ปัจจุบันมังคุดยกต้นราคาเพียง 2,500 บาทเท่านั้น เฉลี่ยกิโลกรัมละ 25 บาท และร่วมหารือกับพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกมังคุดและทุเรียนที่สะท้อนปัญหาเรื่องบทบาทของล้งและพ่อค้าคนกลางในการกำหนดราคา ปัญหาสภาพภูมิอากาศแปรปรวน โดยพิธาได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าด้วย
พิธาให้ความเห็นแก่ผู้สื่อข่าวว่า วันนี้ตนเดินทางมายังจังหวัดตราด นอกจากมาเพื่อเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ. ยังมีอีก 2-3 เรื่อง ที่ตั้งใจมาศึกษาปัญหาของพี่น้องเกษตรกรโดยตรง ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาที่เกิดจากภัยแล้ง ส่งผลกระทบต่อผลผลิตและราคาสินค้าการเกษตร โดยเฉพาะ มังคุด เงาะ ทุเรียน ตนมองว่าแม้ประเทศไทยจะมีศักยภาพในการผลิตสินค้าเกษตร ยกตัวอย่าง ทุเรียนตราด ทุเรียน GI (Geographical Indication) หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของเกาะช้าง แต่ก็มีเรื่องที่น่ากังวลคือปลายทางของการส่งออก ส่วนใหญ่เป็นตลาดจีน และขณะเดียวกันก็เป็นตลาดที่มีคู่แข่งเยอะ
.
พิธา กล่าวต่ออีกว่า กว่า 90% ของทุเรียนไทยส่งออกไปยังประเทศจีน ขณะที่ไต้หวันเป็นอีกตลาดที่นิยมบริโภคทุเรียน แต่ส่วนแบ่งทางการตลาดยังต่ำอยู่ สิงคโปร์ก็เป็นตลาดใหญ่เช่นเดียวกัน แต่ส่วนแบ่งทางการตลาด มีมาเลเซียและเวียดนามด้วย เพราะฉะนั้นจึงต้องยอมรับว่า ประเทศไทยมีศักยภาพจริง แต่คู่แข่งก็มีศักยภาพมากเช่นกัน ดังนั้นหากจะพูดถึงปัญหาเกษตรกรต้องมียุทธศาสตร์ ทำให้สินค้าโดดเด่น พร้อมยกตัวอย่างการแปรรูปที่เพิ่มมูลค่าให้ทุเรียน เช่น เปลือกทุเรียนสามารถทำเป็นกระดาษได้ เปลือกทุเรียนนำไปหมักจุลินทรีย์และทำเป็นอาหารวัว เครื่องสำอางในยุโรปใช้สารต้านอนุมูลอิสระจากทุเรียนไปเพิ่มมูลค่า ทั้งหมดนี้เป็นวิธีคิดตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เกษตรกรไทยถึงจะมีอนาคต