กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการใหม่ “ส้มควายภูเก็ต” เป็นสินค้า GI ลำดับที่ 3 ของจังหวัด รองจากสับปะรดภูเก็ตและมุกภูเก็ต คาดช่วยผลักดันให้สินค้าเป็นที่รู้จัก ช่วยสร้างงาน เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวภูเก็ตเพิ่มขึ้น เผยปัจจุบัน กลายเป็นพืชเศรษฐกิจ สร้างรายได้แล้วกว่าปีละ 3.6 ล้านบาท
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สินค้ารายการใหม่ คือ “ส้มควายภูเก็ต” ซึ่งเป็นสินค้า GI ลำดับที่ 3 ของจังหวัดภูเก็ต ต่อจากสินค้าสับปะรดภูเก็ต และมุกภูเก็ต ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ไปก่อนหน้านี้ โดยมั่นใจว่าการขึ้นทะเบียน GI จะช่วยผลักดันให้สินค้าเป็นที่รู้จัก ช่วยอนุรักษ์และต่อยอดภูมิปัญญาในท้องถิ่น ช่วยสร้างรายได้และอาชีพให้กับเกษตรกรชาวภูเก็ตได้เพิ่มขึ้น
สำหรับ “ส้มควายภูเก็ต” เป็นพันธุ์ส้มที่มีทรงผลกลม ร่องผิวเปลือกตื้น เนื้อละเอียด หนา แน่น รสชาติเปรี้ยวจัด มีขอบเขตการปลูกครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดภูเก็ต ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนเหนียว อุดมไปด้วยธาตุอาหารหลักที่จำเป็น อีกทั้งสภาพภูมิอากาศที่มีฝนตกชุกตลอดปี ถือเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการปลูกต้นส้มควาย ทำให้ต้นส้มเจริญเติบโตได้ดี ทั้งในมิติของการจัดการใบ ดอก และติดผล สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี
นอกจากนี้ “ส้มควายภูเก็ต “ยังเป็นพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการและสารสำคัญต่าง ๆ ผสมผสานกับกระบวนการผลิตที่พิถีพิถัน มีการควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการผลิต การเก็บเกี่ยว จนถึงการแปรรูป โดยอาศัยทั้งภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อกันมา ร่วมกับการส่งเสริมจากหลายภาคส่วนในจังหวัด ส่งผลให้ส้มควายภูเก็ตเป็นสินค้า ที่มีคุณภาพดี สามารถนำมาจำหน่ายได้ทั้งแบบผลสด แบบแห้ง และแบบผง อีกทั้งยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นอาหารพื้นเมือง และเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเวชสำอางค์ได้อีกด้วย
“จากคุณลักษณะพิเศษดังกล่าว ส้มควายภูเก็ตจึงเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่เป็นที่ยอมรับและเป็นที่ต้องการของตลาด มีการสั่งซื้อส้มควายทั้งแบบขายปลีก ขายผ่านช่องทางออนไลน์ และด้วยการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ให้มีการส่งสินค้าไปจำหน่ายนอกพื้นที่จังหวัดภูเก็ต รวมถึงการร่วมงานแสดงสินค้าต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทำให้ส้มควายภูเก็ตได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่กว่า 3.6 ล้านบาทต่อปี”นายวุฒิไกรกล่าว
ที่ผ่านมา กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้เดินหน้าเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรและชุมชนท้องถิ่น ผ่านนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากบนพื้นฐานแห่งอัตลักษณ์และภูมิปัญญาไทย โดยใช้ประโยชน์จากการขึ้นทะเบียน GI เพื่อคุ้มครองสินค้าท้องถิ่นชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในพื้นที่แหล่งผลิตสินค้าในแต่ละท้องถิ่น ตลอดจนให้ความคุ้มครอง และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และยังช่วยส่งเสริมการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค และขยายช่องทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง