นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในแต่ละปีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะจัดให้มีการประกวดผลงานของเกษตรกร สถาบันเกษตรกร สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ และปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ตั้งแต่ระดับจังหวัดจนถึงระดับชาติ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติเกษตรกร สถาบันเกษตรกร สหกรณ์ และปราชญ์เกษตรที่มีผลงานดีเด่น ควรแก่การเป็นแบบอย่างให้กับเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์รายอื่น ๆ ได้ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาอาชีพและการปฏิบัติงาน โดยเกษตรกร ผู้แทนสถาบันเกษตรกร ผู้แทนสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติและปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน จะเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวงทุกปี สำหรับปี 2567 จะตรงกับวันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม 2567 โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้รับมอบหมายให้ดำเนินการคัดเลือกเกษตรกร บุคคลทางการเกษตร และสถาบันเกษตรกรดีเด่น จำนวน 8 สาขา ซึ่งแต่ละสาขามีผลงานดีเด่น ดังนี้
1. นายประดับ ปิ่นนาค จังหวัดอุตรดิตถ์ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำสวน ประจำปี พ.ศ. 2567เปลี่ยนจากทำไร่อ้อยมาเป็นสวนไผ่ โดยเล็งเห็นโอกาสในการขยายพันธุ์ไผ่เพื่อจำหน่าย จึงได้ปรับพื้นที่ดินจากบ่อดินลูกรังมาปลูกไผ่ซางหม่นและไผ่พื้นบ้านเพื่อขายหน่อและใช้งาน คิดค้นวิธีการตอนกิ่งแบบ “ตอน 1 ข้อ ได้ 2 กิ่ง” ต่อยอดเป็นจุดขยายพันธุ์ไผ่ สร้างอาชีพให้กับครัวเรือนและคนในชุมชนตลอดทั้งปี
2. นายสุริยา ห่วงถวิล จังหวัดลพบุรี เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำไร่ ประจำปี พ.ศ. 2567 ลาออกจากงานประจำมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน ทำการเกษตรด้วยความเคยชิน ทำให้ประสบปัญหาขาดทุน จึงได้เริ่มศึกษาความรู้ด้านการเกษตร เข้าร่วมอบรมดูงานจากหน่วยงานต่าง ๆ นำวิชาการความรู้มาประยุกต์ใช้ ปรับปรุงพัฒนาคุณภาพเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ GAP ทำให้ได้ผลผลิตสูง มีการเชื่อมโยงกับกลุ่มเกษตรกรแบบแปลงใหญ่ ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ GAP และมันสำปะหลัง เพื่อสร้างเครือข่ายและพัฒนาผลผลิตให้ตรงตามความต้องการของตลาดอยู่เสมอ
3. นางอัญชัน สุขจันทร์ จังหวัดสุรินทร์ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพไร่นาสวนผสม ประจำปี พ.ศ. 2567 เปลี่ยนจากทำเกษตรเชิงเดี่ยวโดยปลูกข้าวเป็นหลัก ปรับพื้นที่เป็นโคก หนอง นา ทำเป็นไร่นาสวนผสม ผลิตเมล็ดข้าวและผักอินทรีย์ตามมาตรฐาน GAP แปรรูปผลผลิตเพิ่มมูลค่า จนได้รับการยอมรับจากชุมชน มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดการใช้น้ำและไฟฟ้าภายในฟาร์มโดยใช้ระบบให้น้ำแบบสปริงเกอร์ และใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์
4. นายนพธิไกร จอมภาปิน จังหวัดแพร่ บุคคลทางการเกษตรดีเด่นแห่งชาติ ประเภทที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร ประจำปี พ.ศ. 2567 สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มยุวเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ให้คำแนะนำ กำกับดูแลการดำเนินงานและกิจกรรมของสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน อย่างใกล้ชิด ด้วยใจรักมีการดำเนินชีวิตตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยเล็งเห็นว่าควรเริ่มจากการปลูกฝังและฝึกทักษะให้สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรได้เรียนรู้และฝึกทักษะด้านการเกษตรและเคหกิจเกษตรจากการฝึกปฏิบัติจริง
5. เด็กหญิงรัตนกานต์ นวลจันทร์ จังหวัดพัทลุง บุคคลทางการเกษตรดีเด่นแห่งชาติ ประเภทสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร ประจำปี พ.ศ. 2567 ครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรรม ช่วยบิดามารดากรีดยางและเก็บยางพาราก้อนถ้วยขายในวันหยุด ช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัว เข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มยุวเกษตรกรแบบมีส่วนร่วม ทำให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพด้านต่าง ๆ โดยนำหลัก 4 ก คือ เกศ กมล กร และกาย รวมถึงนำยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ในการทำเกษตรเพื่อสร้างรายได้ให้ครอบครัว
6. กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าพุเตย จังหวัดเพชรบูรณ์ สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประเภทกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ประจำปี พ.ศ. 2567 กลุ่มสตรีในชุมชนได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็น “กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าพุเตย” เพื่อใช้เวลาว่างหลังฤดูกาลผลิตสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว และสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการทอผ้า และเสื่อกกที่ใช้สีย้อมจากวัตถุดิบธรรมชาติที่มีในชุมชน ภายใต้ชื่อ “ผ้าทอพุเตย” ออกแบบลวดลายที่สื่อถึงอัตลักษณ์ของวิถีชีวิตชุมชน และจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ประเภทงานศิลปกรรม จำนวน 10 ลาย ยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์จนได้รับมาตรฐาน เช่น ตรานกยูงพระราชทาน “นกยูงสีน้ำเงิน” มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) OTOP
7. กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านเหล่า (รัฐราษฎร์บำรุง) จังหวัดแพร่ สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประเภทกลุ่มยุวเกษตรกร ประจำปี พ.ศ. 2567 จัดทำฐานเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง บริหารงานกลุ่มแบบ PDCA ยุวเกษตรกรเกิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงจำหน่ายผลผลิตและผลิตภัณฑ์แปรรูปของกลุ่มฯ เช่น แหนมเห็ด ปลาส้ม แยมมัลเบอร์รี่ เค้กกล้วยหอม ไข่เค็ม ให้กับโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน และร้านค้าสหกรณ์โรงเรียน จัดสรรผลกำไรจากการดำเนินกิจกรรมกลุ่มยุวเกษตรกรให้แก่สมาชิกทุกคน
8. เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประเภทวิสาหกิจชุมชน ประจำปี พ.ศ. 2567 มีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นผู้ผลิตข้าวอินทรีย์มาตรฐานระดับโลก ใช้การตลาดนำการผลิต ยึดผลประโยชน์สูงสุดเพื่อสมาชิก กลุ่ม ชุมชน และเครือข่ายอย่างยั่งยืน มีระบบ “แก้มลิง” ในการชะลอการจำหน่ายข้าว มีเป้าหมายทางการตลาดจำหน่ายข้าวอินทรีย์ส่งออกต่างประเทศ 90% และจำหน่ายในประเทศ 10% ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล Fairtrade, EU, NOP, JAS และ COFCC
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า กรมส่งเสริมการเกษตรขอแสดงความยินดีกับเกษตรกร บุคคลทางการเกษตร และสถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2567 ทุกท่าน และคาดหวังว่านอกจากผลการคัดเลือกดังกล่าว จะเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติ สร้างความภาคภูมิใจในการประกอบอาชีพของเกษตรกร บุคคลทางการเกษตร และสถาบันเกษตรกรดีเด่นที่ได้รับการคัดเลือกแล้ว การถอดบทเรียนจากความสำเร็จของเกษตรกร บุคคลทางการเกษตร และสถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2567 ยังจะเป็นแรงบันดาลใจ และประโยชน์ต่อเกษตรกร และผู้ที่สนใจด้านการเกษตรในการพัฒนาอาชีพด้านการเกษตร ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการเกษตรไทยในอนาคตด้วย