เด็กหญิงรัตนกานต์ นวลจันทร์ ชื่อเล่น น้องแพง ปัจจุบัน อายุ 15 ปี อาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 305 หมู่ที่ 5 ตำบลแหลมโตนด อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนบ้านเตง (เรือนจุลประชาสรรค์) อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง และกำลังจะเข้าศึกษาต่อระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ณ โรงเรียนควนขนุน ต.โตนดด้วน อ.ควนขนุน จ.พัทลุง น้องแพง มีความชอบและความคุ้นเคยในอาชีพเกษตรเป็นพื้นฐาน เนื่องจากเกิดในครอบครัวที่ทำอาชีพเกษตรกรรมมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และได้มีส่วนร่วมในการช่วยงานครอบครัวมาโดยตลอด โดยการช่วยพ่อแม่กรีดยางพารามาตั้งแต่อายุ 11 ขวบ รวมทั้งช่วยพ่อแม่ปลูกผักสวนครัว จึงมีความรู้และมีทักษะด้านการเกษตร ในปี พ.ศ. 2563 จึงได้สมัครเป็นสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการสภายุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านเตง มีบทบาทในการเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของกลุ่ม ทำหน้าที่ประจำฐานเรียนรู้ต่าง ๆ ทั้งด้านพืช ด้านประมง และด้านปศุสัตว์ และสามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรให้แก่เพื่อน ๆ ได้ สำหรับคติประจำใจในการทำงานคือ “อย่าหยุดที่จะทำ เพราะทุกการเรียนรู้เกิดจากการทำ”
กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านเตง มีฐานการเรียนรู้ทั้งหมด 10 ฐาน ประกอบด้วย 1. ฐานการเรียนรู้กลุ่มยุวเกษตรกร 2. ฐานเรียนรู้การทำนา 3. ฐานการเรียนรู้การปลูกผัก 4. ฐานการเรียนรู้การเลี้ยงไส้เดือน 5. ฐานการเรียนรู้การแปรรูป 6. ฐานการเรียนรู้การปลูกยางพารา 7. ฐานการเรียนรู้การคัดแยกขยะ 8. ฐานการเรียนรู้การเลี้ยงปลา 9. ฐานการเรียนรู้การเลี้ยงไก่ไข่ และ 10. ฐานการเรียนรู้การออม ผลผลิตที่ได้จากฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ สามารถส่งจำหน่ายโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน เพื่อเป็นอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนในโรงเรียน หากผลผลิตเกินความต้องการก็จะนำไปจำหน่ายให้แก่ครู และผู้ปกครอง อีกทั้งหากมีเศษพืชผักที่เหลือใช้ ก็สามารถนำมาเป็นอาหารในการเลี้ยงไส้เดือน จากการมีส่วนร่วมในทุกฐานการเรียนรู้ รวมทั้งการหาความรู้เพิ่มเติมจากแหล่งต่าง ๆ เช่น Yong smart farmer (YSF) จากเอกสารทางวิชาการ อินเตอร์เน็ต และปราชญ์ชาวบ้านหรือจากผู้รู้ในสาขาต่าง ๆ และจากพี่ ๆ สำนักงานเกษตรอำเภอควนขนุน น้องแพง จึงได้นำประสบการณ์และความรู้ที่ได้มาถ่ายทอดให้แก่เพื่อนสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร เช่น การปลูกผักสวนครัว การผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มา การเลี้ยงไส้เดือนเพื่อผลิตปุ๋ยสำหรับใช้ในแปลงผัก การจัดทำถังรักษ์โลก เพื่อลดปัญหาเศษขยะ ในส่วนของการนำองค์ความรู้ไปปรับใช้และทำกิจกรรมการเกษตรภายในครัวเรือนและของตนเอง ได้แก่ การปลูกผักสวนครัวโดยการปลูกแบบหมุนเวียน ปลอดสารพิษ เช่น ผักบุ้ง ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ผักกาดขาวปลีมะเขือ พริก ข้าวโพดหวาน ผลผลิตที่ได้จะจำหน่ายผลสดและการแปรรูป เป็นการลดรายจ่ายและเป็นรายได้เสริมให้แก่ครอบครัว นอกจากนี้ยังช่วยพ่อแม่กรีดยางพาราและช่วยเก็บยางก้อนถ้วย ซึ่งน้องแพงสามารถกรีดยางพาราได้ตั้งแต่อายุ 11 ปี
สำหรับกิจกรรมเด่นของน้องแพงคือ การเลี้ยงไส้เดือน ซึ่งมีแนวคิดมาจากการที่ในชุมชนมีมูลวัวจำนวนมาก เกิดการหมักหมมและเป็นสาเหตุของกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของด้วงแรด ศัตรูที่สำคัญของมะพร้าวและปาล์มน้ำมัน โดยการนำมูลวัวมาเลี้ยงไส้เดือน และนำมูลไส้เดือนมาใส่ในพืชผัก ต้นไม้ต่าง ๆ แทนการใช้ปุ๋ยเคมี โดยเริ่มการการเรียนรู้จากพี่ ๆ Young Smart Farmer แล้วจึงนำมาปฏิบัติจริงที่บ้าน โดยเลี้ยงจำนวน 30 กะละมัง สามารถสร้างรายได้ 60 บาทต่อกะละมัง จากนั้นจึงขยายผลสู่สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรและเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง ที่พักอาศัยนอกจากนี้น้องแพงยังได้ดัดแปลงเครื่องร่อนมูลไส้เดือน เพื่อใช้ในการลดเวลาและแรงงานในการร่อนมูลไส้เดือน และยังคิดค้นการทำมูลไส้เดือนอัดก้อน เพื่อสะดวกในการขนส่ง และใช้งานสะดวกสำหรับผู้ปลูกไม้ประดับในบริเวณอาคาร สำหรับประโยชน์ของการเลี้ยงไส้เดือน เป็นการช่วยกำจัดของเสียในครัวเรือน เช่น เศษผักหรือเศษอาหารต่าง ๆ ซึ่งจะย่อยสลายเป็นปุ๋ยมูลไส้เดือน ซึ่งสามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ นอกจากนี้ยังสามารถผสมปุ๋ยมูลไส้เดือนกับสารชีวภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นการลดการใช้สารเคมีได้อีกด้วย จากความสำเร็จในการเลี้ยงไส้เดือน จึงได้รับเชิญให้ไปเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้การเลี้ยงไส้เดือน ให้แก่เกษตรกรในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และเป็นวิทยากรเลี้ยงไส้เดือน ในกิจกรรมบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ของอำเภอควนขนุน
นายวุฒิศักดิ์ เพชรมีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง และสำนักงานเกษตรอำเภอควนขนุน ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินงานของกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านเตง โดยการเข้าไปดำเนินการสร้างความเข้มแข็งของกลุ่ม ทั้งในส่วนของกระบวนการกลุ่ม การสนับสนุนเจ้าหน้าที่ตลอดจนงบประมาณในการเป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านการเกษตรแก่น้อง ๆ และการปรับปรุงและพัฒนาฐานเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะสมและเอื้อต่อการเรียนรู้ของน้อง ๆ ในส่วนของ เด็กหญิงรัตนกานต์ นวลจันทร์ หรือน้องแพง เป็นบุคคลที่มีส่วนร่วมในการพัฒนากลุ่มยุวเกษตรกรของโรงเรียนบ้านเตง โดยการดำเนินกิจกรรมภายในฐานต่าง ๆ และต่อยอดโดยการขยายผลกิจกรรมต่าง ๆ สู่ชุมชน จนเป็นที่ยอมรับและศรัทธาของสมาชิกและชุมชน สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรท่านอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังมีความเป็นจิตอาสา โดยการช่วยงานของโรงเรียนในด้านต่าง ๆ และงานของชุมชนในภาพรวมอีกด้วย จากความเพียรพยายาม ความตั้งใจในการเรียนรู้ และเป็นผู้ที่มีจิตอาสาดังกล่าวข้างต้น สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา จึงพิจารณาคัดเลือกให้ได้รับรางวัลบุคคลทางการเกษตรดีเด่นระดับเขต ประเภทสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร ประจำปี 2566 ซึ่งเป็นตัวแทนของเขตภาคใต้ เข้าประกวดในระดับประเทศ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีประกาศเรื่อง ผลการคัดเลือกเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2567 ลงวันที่ 26 มีนาคม 2567 ประกาศให้เด็กหญิงรัตนกานต์ นวลจันทร์ สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านเตง (เรือนจุลประชาสรรค์) อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ได้รับรางวัลชนะเลิศ เกษตรกรและบุคคลทางการเกษตรดีเด่นแห่งชาติ ประเภทสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร ซึ่งจะเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2567 ณ พลับพลาที่ประทับมณฑลพิธีท้องสนามหลวง