นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศสงครามกับสินค้าเกษตรเถื่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยการผลิตทางการเกษตร มุ่งปราบปัจจัยการผลิตที่ผิดกฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อเป็นการปกป้องผู้บริโภค และเกษตรกร รวมถึงการเข้มงวดการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรพร้อมดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดนั้น ได้รับรายงานจากนายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ว่า สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จังหวัดชัยนาท (สวพ.5) ซึ่งเป็นหน่วยงานในส่วนภูมิภาคของกรมวิชาการเกษตร ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับคุ้มครองผู้บริโภคโดยสืบข้อมูลจากการขายในเฟชบุ๊กและทำการล่อซื้อปุ๋ยเคมีไม่มีฉลาก ในพื้นที่ ต.ห้วยบง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี
จากการตรวจสอบพบปุ๋ยเคมีที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียน 40 กระสอบ ปริมาณ 2,000 กิโลกรัม และได้ทำการจัดเก็บตัวอย่าง จำนวน 1 รายการ และอายัดของกลางไว้ทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 24,000 บาท
จากการสอบสวนผู้ผลิตและจำหน่ายปุ๋ยเคมีเถื่อน ได้ความว่า มีโรงงานผลิตปุ๋ยเคมี ในพื้นที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี จึงประสานให้เจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี เข้าตรวจสอบสถานที่ดังกล่าว จากการตรวจสอบพบเครื่องมือสำหรับการผลิตปุ๋ย แต่ไม่พบใบอนุญาตผลิตปุ๋ยเคมี จึงทำการอายัดเครื่องมือสำหรับการผลิตปุ๋ย 9 รายการ และวัสดุการเกษตรตั้งต้นในการผลิต จำนวน 10 รายการ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ.2518 ดังนี้
1. ผลิตปุ๋ยเคมีโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 12 ต้องระวางโทษตามมาตรา 57 จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน สองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.ผลิตปุ๋ยที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียน ตามมาตรา 30 (5) ต้องระวางโทษตามมาตรา 71 จำคุก 1 ปี ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นถึงสองแสนบาท
นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ต่อมาในวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรของ สวพ.5 เจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครปฐม และเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรของสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครอง ได้ดำเนินการขยายผลในการตรวจสอบแหล่งที่มาของปุ๋ยเคมีที่นำมาใช้ในการผลิตปุ๋ยเถื่อนดังกล่าวโดยได้เข้าตรวจสอบสถานที่เก็บปุ๋ยในพื้นที่ ตำบลทุ่งลูกนก อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม จากการตรวจสอบพบปุ๋ยเคมีสูตร 0-0-60 ที่ต้องสงสัยว่าเป็นปุ๋ยเคมีที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด จำนวน 2,208 กระสอบ ปริมาณ 110,400 กิโลกรัม และได้ทำการจัดเก็บตัวอย่าง จำนวน 1 รายการ และอายัดของกลางไว้ทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าของกลาง 1,766,400 บาท ซึ่งการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายฐานความผิดแห่งพ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ.2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามมาตรา 58 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา 34(5) ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท
“รมว.เกษตรฯ ได้กำชับให้กรมวิชาการเกษตรปราบปรามพวกมิจฉาชีพที่ผลิต และขายปัจจัยการผลิตปลอมทั้งปุ๋ย วัตถุอันตราย หลอกขายเกษตรกร โดยมอบเป็นนโยบายเร่งด่วนให้ดำเนินการทันที เพื่อไม่ให้เกษตรกรโดนเอาเปรียบ พร้อมกับสั่งการให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด หากเกษตรกรหรือผู้ที่ทราบเบาะแสการกระทำผิดดังกล่าวขอให้แจ้งได้ที่สายด่วน 1174 เพื่อจะได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรเข้าไปดำเนินการตรวจสอบต่อไป” นายภัสชญภณ กล่าว