นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายณฐกร สุวรรณธาดา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสมศักดิ์ วิวิธเกยูรวงศ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) ประจำกรุงโตเกียวและคณะ เดินทางถึงเมืองอิบารากิวันนี้ (1 ก.ค.65) เพื่อหารือความร่วมมือกับองค์กรวิจัยด้านการเกษตรและอาหารแห่งประเทศญี่ปุ่น (National Agricultural and Food Research Organization: NARO) ณ จังหวัดอิบารากิ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยด้านพืชและปศุสัตว์ของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น (MAFF) โดยมี ดร.มาซูมิ คัตสุตะ (Dr.Masumi Katsuta) รองประธาน NARO และทีมงานให้การต้อนรับ พร้อมบรรยายสรุปเกี่ยวกับงานวิจัยด้านการเกษตร ปศุสัตว์ เทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ การพัฒนาเครื่องจักรกลทางการเกษตร ฯลฯ
โดยนายอลงกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารฯ AIC ได้กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาความร่วมมือระหว่าง NARO และศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ตามแนวทางนโยบาย “เกษตรมูลค่าสูง”ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หลังการพบหารือฯ ได้เข้าเยี่ยมชม Tsukuba Agriculture Research Hall ซึ่งเป็นสถานที่รวบรวมผลงานวิจัยที่โดดเด่น อาทิ เครื่องปลูกข้าวอัจฉริยะไร้คนขับ ไหมเรืองแสง การพัฒนาพันธุกรรมดอกเบญจมาศสีน้ำเงิน อุปกรณ์เครื่องกลทุ่นแรงในการตัดแต่งกิ่งต้นองุ่น ระบบควบคุมระยะไกลเพื่อรักษาระดับน้ำในแปลงนา ฯลฯ เพื่อนำตัวอย่างแนวคิดงานวิจัย มาพัฒนาปรับปรุงเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร ลดต้นทุนการผลิต และพัฒนานวัตกรรมให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาตามหลักการ BCG model ของประเทศไทย
ทั้งนี้ 5 ยุทธศาสตร์หลักของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ฐัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย ตลาดนำการผลิตเทคโนโลยีเกษตร 4.0 แนวทาง 3’S (Safety-Security-Sustainability) บริหารเชิงรุกแบบบูรณาการโมเดล “เกษตร-พาณิชย์ทันสมัย” และเกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชา ตลอดจนขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model: BCG Model) ด้านการเกษตร ที่มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
สำหรับปี 2565 นโยบายของกระทรวงเกษตรฯด้านเศรษฐกิจการเกษตร จะมีการผลักดันให้ภาคเกษตรเติบโตอย่างเต็มศักยภาพและพร้อมจะร่วมมือกับทุกหน่วยงานในการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรในทุกมิติ ทั้งด้านการพัฒนา Big Data สารสนเทศด้านการเกษตร งานวิจัยที่มีความทันสมัย และแผนพัฒนาการเกษตรในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายและการวางแผนที่มีประสิทธิภาพ มีการดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตลอดจนติดตามและประเมินผลโครงการสำคัญเพื่อการทบทวนและปรับปรุงการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้นเพื่อให้ภาคเกษตรไทยก้าวสู่ภาคเกษตรมูลค่าสูง ฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความมั่นคงในอาชีพให้กับเกษตรกรไทย