นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการยกระดับผลผลิตถั่วเหลืองของประเทศให้สูงขึ้น กรมวิชาการเกษตรจึงได้จัดทำแปลงโมเดลต้นแบบการผลิตถั่วเหลืองที่มีประสิทธิภาพแบบคาร์บอนต่ำ จังหวัดเชียงใหม่ โดยร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และบริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ดำเนินการณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ มีเป้าหมายเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และขยายผลการผลิตถั่วเหลืองที่มีประสิทธิภาพแบบ low carbon สามารถยกระดับผลผลิตถั่วเหลืองของประเทศจากปริมาณการผลิต 267 กก./ไร่ ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 410 กก./ไร่ โดยเน้นการเพิ่มศักยภาพการผลิตในทิศทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะแนวทางปฏิบัติที่นำไปสู่การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศ โดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อรองรับการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำต่อไป
นายศรุต สุทธิอารมณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตของกรมวิชาการเกษตรที่นำมาปรับใช้ในแปลงโมเดลต้นแบบการผลิตถั่วเหลืองที่มีประสิทธิภาพแบบคาร์บอนต่ำ จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ ใช้เมล็ดพันธุ์ดี ซึ่งเป็นปัจจัยแรกของการผลิตพืช เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดี ทำให้ได้จำนวนต้นถั่วเหลืองในพื้นที่ปลูกสูง เนื่องจากมีอัตราการงอกและรอดตายสูง ใช้ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมคลุกเมล็ดถั่วเหลือง ในอัตรา 200 กรัม ต่อเมล็ด 10-12 กิโลกรัม ก่อนปลูก และการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เป็นการให้ปุ๋ยแก่ต้นถั่วเหลืองในปริมาณที่เหมาะสมตามความต้องการของถั่วเหลือง สามารถลดการใส่ปุ๋ยเกินความจำเป็น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ โดยวิธีการดังกล่าวสามารถลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนได้ 50-100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มผลผลิตถั่วเหลืองได้ 25 เปอร์เซ็นต์
การใช้เครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องปลูกและเครื่องเกี่ยวนวด จะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ประหยัดเวลา และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตถั่วเหลือง ช่วยลดต้นทุนการผลิตด้านแรงงานไม่น้อยกว่า 67 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่มีความแม่นยำจะลดความซับซ้อนของกระบวนการผลิตและทำงานได้เร็วยิ่งขึ้น จึงเป็นการลดการใช้เชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ ส่งผลให้ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
การจัดการน้ำระบบน้ำหยดร่วมกับปุ๋ยแบบอัตโนมัติ เป็นการให้น้ำตามความต้องการใช้น้ำของถั่วเหลืองโดยระบบน้ำหยดแบบอัตโนมัติ มีระบบแจ้งเตือนการให้น้ำ และการจัดเก็บข้อมูลสภาพภูมิอากาศและปริมาณการใช้น้ำไว้ในระบบฐานข้อมูล รวมทั้งมีการให้ปุ๋ยร่วมกับระบบน้ำ ซึ่งเป็นวิธีการให้ปุ๋ยที่มีประสิทธิภาพ ลดแรงงานในการให้ปุ๋ย ลดการชะล้างปุ๋ยนอกเขตรากพืช การแพร่กระจายปุ๋ยสม่ำเสมอบริเวณที่รากพืช สามารถเพิ่มผลผลิตและคุณภาพ ลดการใช้เชื้อเพลิงจากการใช้เครื่องพ่นยาแบบสะพายหลัง ส่งผลให้ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
การใช้โดรนพ่นสารป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูถั่วเหลือง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้สารเคมีให้กับถั่วเหลือง รวมทั้งโดรนยังมีความสามารถจดจำตำแหน่งที่ฉีดพ่นครั้งก่อนได้ สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้สะดวกทั่วถึง ตลอดจนทำให้เกษตรกรมีความปลอดภัยจากการลดการสัมผัสสารเคมีทางการเกษตรโดยตรง ลดการใช้เชื้อเพลิงจากการใช้เครื่องพ่นสารเคมี ประหยัดแรงงานและเวลาสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว
การใช้โดรนประมินสุขภาพพืช โดยการนำโดรนมาใช้ประโยชน์ในการประเมินสุขภาพถั่วเหลือง โดยใช้โดรนติดกล้องถ่ายภาพแบบมัลติสเปกตรัม บินทั่วแปลงถั่วเหลืองฝักสดจำนวน 4 ครั้ง ที่ระยะต่าง ๆ คือ 7-10 วันหลังงอก 15-20 วันหลังงอก 30-35 วันหลังงอก และ 60-65 วันหลังงอก เพื่อเก็บบันทึกภาพ มีประโยชน์ในการช่วยในการวิเคราะห์สภาพของดินปลูก สุขภาพความสมบูรณ์ของผลผลิตถั่วเหลือง ซึ่งใช้ระยะสั้น สามารถบริหารจัดการด้านการป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้ รวมถึงการคาดการณ์ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมและผลผลิตที่ได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตถั่วเหลืองและการกักเก็บคาร์บอนโดยทางอ้อม
การใช้ชีวภัณฑ์หรือจุลินทรีย์ในการควบคุมศัตรูถั่วเหลือง ได้แก่ เชื้อราไตรโคเดอร์มา แอสเปอเรลลัม และเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ซับทีลิส หรือ บีเอส สามารถทำลายเชื้อโรคพืชได้หลายชนิดทั้งเชื้อราและ แบคทีเรีย ช่วยลดต้นทุน เกษตรกรสามารถผลิตขยายใช้เอง ในราคาถูก สามารถใช้ร่วมกับโดรนได้ ลดการใช้เชื้อเพลิงจากการใช้เครื่องพ่นสารเคมี เป็นการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
คู่มือการผลิตถั่วเหลืองที่มีประสิทธิภาพ การจัดทำคู่มือการผลิตถั่วเหลืองโดยใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การจัดการแปลงปลูก การปลูก ให้น้ำ ใส่ปุ๋ย ดูแลรักษา การเก็บเกี่ยวผลผลิต พร้องทั้งมีการบันทึกช่วงเวลาการปฏิบัติงาน ประวัติการระบาดของศัตรูพืชและการใช้สารเคมีและเทคโนโลยีต่างๆ จะเป็นปฏิทินที่บันทึกข้อมูลที่เป็นสถิติ เพื่อประโยชน์ต่อการวางแผนการผลิตถั่วเหลืองให้มีประสิทธิภาพต่อไป
“โมเดลต้นแบบการผลิตถั่วเหลืองที่มีประสิทธิภาพแบบคาร์บอนต่ำ จะเป็นต้นแบบให้เกษตรกรในจังหวัดเชียงใหม่ได้เรียนรู้และนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมในพื้นที่ของตนเอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตถั่วเหลืองแบบคาร์บอนต่ำ และขยายผลไปพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองที่สำคัญ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการยกระดับผลผลิตถั่วเหลืองของประเทศให้สูงขึ้น และเป็นแนวทางในการช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศ เพื่อรองรับการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่อไป” นายศรุต กล่าว