นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายให้ส่วนราชการในสังกัดดำเนินการคัดเลือกเกษตรกร สถาบันเกษตรกรและสหกรณ์ที่มีผลงานดีเด่น สาขาอาชีพ/ประเภทที่กำหนดเป็นเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ เพื่อยกย่องประกาศเกียรติคุณและเผยแพร่ผลงานดีเด่นให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จัก ยึดถือเป็นแบบอย่างในแนวทางการปฏิบัติงานด้านการเกษตร โดยในปี 2567 นี้ มีเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ดีเด่น ที่ได้รับการคัดเลือกจะได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญประจำปี 2567 ในวันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม 2567 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ประกอบด้วย ปราชญ์เกษตรแห่งแผ่นดินจำนวน 3 สาขา เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 16 สาขาอาชีพ สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 12 กลุ่ม และสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 7 สหกรณ์ ดังต่อไปนี้
ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี 2567 จำนวน 3 สาขา ได้แก่ 1) สาขาปราชญ์เศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ นายวินิจ ถิตย์ผาด จังหวัดกาฬสินธุ์ และ 2) สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น ได้แก่ นายพิบูลย์ชัย ชวนชื่น จังหวัดสมุทรสาคร
3) สาขาปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย ได้แก่ นายอัษฎางค์ สีหาราช จังหวัดอุตรดิตถ์
เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2567 จำนวน 16 สาขาอาชีพ ได้แก่ 1) อาชีพทำนา ได้แก่ นางทองเม็ด
พรมพิทักษ์ จังหวัดนครสวรรค์ 2) อาชีพทำสวน ได้แก่ นายประดับ ปิ่นนาค จังหวัดอุตรดิตถ์ 3) อาชีพทำไร่ ได้แก่ นายสุริยา ห่วงถวิล จังหวัดลพบุรี 4) อาชีพไร่นาสวนผสม ได้แก่ นางอัญชัน สุขจันทร์ จังหวัดสุรินทร์ 5) อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ได้แก่นายพินิจ แก้วพิมาย จังหวัดชัยภูมิ 6) อาชีพเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ นายสัมฤทธิ์ อินทร์เฉลียว จังหวัดลพบุรี 7) อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ได้แก่ นายสุชาติ ปิยะศิรินนท์ จังหวัดนครปฐม 8) อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ได้แก่ นายณัฏฐชัย นาคเกษม จังหวัดนครศรีธรรมราช 9) อาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ ได้แก่ นายธีรุตม์ อนวัชศิริวงศ์ จังหวัดพะเยา 10) อาชีพปลูกสวนป่า ได้แก่ นายสุมิตร ศรีวิสุทธิ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช 11) สาขาบัญชีฟาร์ม ได้แก่ นางอวยพร ราชเล็ก จังหวัดพัทลุง 12) สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้แก่ นายสนิท ดำบรรณ์ จังหวัดอุบลราชธานี 13) สาขาการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช ได้แก่ นายแล โพธิ์วัด จังหวัดพิจิตร 14) สาขาเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ เรืออากาศตรีบัญชา เพ็ชรรักษ์ จังหวัดสิงห์บุรี 15) ที่ปรึกษายุวชนเกษตรกร ได้แก่ นายนพธิไกร จอมภาปิน จังหวัดแพร่ และ 16) สมาชิกกลุ่มยุวชนเกษตรกร ได้แก่ เด็กหญิงรัตนกานต์ นวลจันทร์ จังหวัดพัทลุง
สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2567 จำนวน 12 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มเกษตรกรทำนา กลุ่มเกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านตอนิมิตร จังหวัดแพร่ 2) กลุ่มเกษตรกรทำสวน ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำสวนยางพาราบ้านคำข่า จังหวัดสกลนคร 3) กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรโคเนื้อไทย เขาชัยสน จังหวัดพัทลุง 4) กลุ่มเกษตรกรทำประมงหรือกลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ กลุ่มประมงพื้นบ้านไหนหนัง จังหวัดกระบี่ 5) กลุ่มเกษตรกรแปรรูปสัตว์น้ำ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทุ่งรวงทอง จังหวัดตรัง 6) กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าพุเตย จังหวัดเพชรบูรณ์ 7) กลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านเหล่า (รัฐราษฎร์บำรุง) จังหวัดแพร่ 8) กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวสามัคคีพันธุ์ข้าว จังหวัดนครสวรรค์ 9) สถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทาน ได้แก่ กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานม่วงเตี้ย จังหวัดปัตตานี 10) ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภทข้าวหอมมะลิ ได้แก่ ศูนย์ข้าวชุมชนตำบลล้อมแรด จังหวัดลำปาง 11) ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภท ข้าวอื่นๆ ได้แก่ ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านโพธิ์เจริญ จังหวัดชัยนาท และ 12) วิสาหกิจชุมชน ได้แก่ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ
สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2567 จำนวน 7 สหกรณ์ ได้แก่ 1) สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่ – ลำพูน จำกัดจังหวัดเชียงใหม่ 2) สหกรณ์โคนม ได้แก่ สหกรณ์โคนมท่าหลวง จำกัด จังหวัดลพบุรี 3) สหกรณ์ผู้ผลิตยางพาราได้แก่ สหกรณ์กองทุนสวนยางเอราวัณพัฒนา จำกัด จังหวัดเลย 4) สหกรณ์ผู้ใช้น้ำ ได้แก่ สหกรณ์ผู้ใช้น้ำสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านท้ายวัดพญาปันแดน จำกัด จังหวัดอุตรดิตถ์ 5) สหกรณ์ออมทรัพย์ ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขลำพูน จำกัด จังหวัดลำพูน 6) สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ได้แก่ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคุรุสภาอำเภอเมืองเชียงใหม่ จำกัด จังหวัดเชียงใหม่และ 7) สหกรณ์ร้านค้า ได้แก่ ร้านสหกรณ์โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช จำกัด จังหวัดนครศรีธรรมราช
อนึ่ง ในวันพระราชพิธีพืชมงคลนี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้ลงมติให้เป็น “วันเกษตรกร” ประจำปีด้วย โดยในปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม 2567 ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเกษตร และร่วมกันตั้งจิตอธิษฐานในการประกอบพระราชพิธีมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อความเป็นสิริมงคลและความเจริญรุ่งเรืองแก่อาชีพของตน เนื่องด้วยการเกษตรเป็นภาคการผลิตและเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ คณะรัฐมนตรีจึงได้กำหนดให้จัดงานวันเกษตรกรควบคู่กับวันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อบำรุงขวัญแก่เกษตรกรนับแต่นั้นเป็นต้นมา
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นางพรศิริ เมืองปิง ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนาสหกรณ์นอกภาคการเกษตรคณะทำงานและเลขานุการ คณะ 11 คณะทำงานฝ่ายฝึกซ้อมเกษตรกรฯ เบอร์โทรศัพท์ 098-252-9344