คลอดแล้ว Digital Wallet 10,000 บาท รบ.ประกาศพร้อมใช้จ่ายไตรมาส 4/2567 กำหนดเกณฑ์รายได้ผู้ได้สิทธิไม่เกิน 840,000 บาท/ปี มีเงินฝากไม่เกิน 500,000 บาท -ใช้เงิน ธ.ก.ส.ในส่วนเกษตรกร 17 ล้านคนเศษ

IMG 20240410122739000000 scaled

วันที่ 10 เมษายาน 2567 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำแถลงข่าวหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 3/2567 พร้อมกับ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  โดยคณะกรรมการฯได้วางแนวทาง รายละเอียด และเงื่อนไขโครงการเงินหมื่นดิจิทัล ดังนี้

แหล่งเงินที่ใช้ในการดำเนินโครงการ ใช้เงินจากงบประมาณจาก 3 แหล่ง ได้แก่

1.เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท

2.การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดูแลประชาชนในกลุ่มที่เป็นเกษตรกร จำนวน 17 ล้านคนเศษ ผ่านกลไก มาตรา 28 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2568

3.การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท

และคาดว่าจะมีประชาชนจำนวนประมาณ 50 ล้านคนได้รับสิทธิ โดยจะมีเกณฑ์ ได้แก่

-อายุเกิน 16 ปี ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน

-ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี หรือมีรายได้ไม่เกิน 70,000 บาท/เดือน

-และมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท

สำหรับเงื่อนไขการใช้จ่าย

1.ระหว่างประชาชนกับร้านค้า ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) โดยกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น

2.ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ระหว่างร้านค้ากับร้านค้าในระดับอำเภอและขนาดของร้านค้า

3.การใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ โดยรอบที่ 1 จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น (ตามกระทรวงพาณิชย์กำหนด) ตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไป จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้าโดยไม่จำกัดขนาดร้านค้า

เงินนี้ซื้ออะไรได้บ้าง

สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการฯ ได้ ยกเว้น สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ เป็นต้น และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม

จะได้รับเงินผ่านช่องทางใด

สำหรับช่องทางในการจ่ายเงิน 10,000 บาทให้กับประชาชน จะเป็นการพัฒนาต่อยอดของรัฐบาลดิจิทัล โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

โดยมีเป้าหมายให้เป็น Super App ของรัฐบาล โดยการใช้งานจะพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่น ๆ ในลักษณะ open loop ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดทำของภาครัฐบาล ซึ่งจะดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปอย่างรอบคอบ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ตามกฎหมาย

ช่วงเวลาการดำเนินโครงการ
ประชาชนและร้านค้าจะสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ภายในไตรมาสที่ 3/2567 และจะมีการเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4/2567

S 6430877

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การให้สิทธิแก่ประชาชน จำนวน 50 ล้านคน คิดเป็นจำนวนเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 5 แสนล้านบาท และกำหนดให้ใช้จ่ายในร้านค้าที่กำหนดซึ่งจะเป็นการเติมเงินลงสู่ฐานราก โดยจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจประมาณ 1.2 – 1.8% ซึ่งประชาชนและร้านค้าเข้าร่วมโครงการภายในไตรมาส 3 ปี2567 และจะเริ่มใช้จ่ายได้ในไตรมาส 4 ปี 2567

นอกจากนี้เพื่อป้องกันการทุจริตได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่เข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการโดยมีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน มีผู้บัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นกรรมการ และที่ประชุมยังได้มีมติแต่งตั้งอนุกรรมการการดำเนินกำกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังในฐานะเลขานุการคณะกรรมการฯ นำมติที่ได้รับความเห็นชอบ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ภายในเดือนเมษายน 2567