“สาบเสือ” มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Eupatorium odoratum Linn. เป็นสมุนไพรอย่างหนึ่งที่หาง่ายมากมีอยู่ทั่วไป จัดว่าเป็นวัชพืชที่มีสรรพคุณทางยาที่ใช้ประโยชน์ได้ดีทีเดียว เราใช้“ต้นสาบเสือ” เป็นดรรชนีชี้วัดอุณหภูมิความแห้งแล้งของอากาศ เพราะหากอากาศไม่แล้ง “ต้นสาบเสือ” ก็จะไม่ออกดอก
สาเหตุที่ได้ชื่อว่า “สาบเสือ” ก็เพราะว่าดอกของมันไม่มีกลิ่นหอมเลยแต่กลับมีกลิ่นสาบ คนโบราณเวลาหนีสัตว์ร้ายอื่นเข้าดง “สาบเสือ” จะปลอดภัย เพราะสัตว์อื่นนั้นจะไม่ได้กลิ่นคน
“สาบเสือ” มีถิ่นกำเนิดอยู่ในอเมริกากลาง มีเขตแพร่กระจายตั้งแต่ทางตอนใต้ของฟลอริดาจนถึงพื้นที่ตอนเหนือของอาร์เจนตินา และไปทั่วเขตร้อนของโลกทุกทวีป ยกเว้นการแพร่กระจายเข้าไปในทวีปออสเตรเลียซึ่งเพิ่งจะพบเพียงเล็กน้อยในช่วงเวลาภายใน 10 ปีที่ผ่านมา
“สาบเสือ” เป็นไม้ล้มลุก แตกกิ่งก้านสาขามากมายจนดูเป็นทรงพุ่ม ลำต้นและกิ่งก้านปกคลุม ด้วยขนอ่อนนุ่ม ก้านและใบเมื่อขยี้จะมีกลิ่นแรงคล้ายสาบเสือ มีลำต้น สูง 1-2 เมตร ใบเดี่ยวออกจากลำต้น ที่ข้อ รูปรีค่อนข้างเป็นสามเหลี่ยมขอบใบหยัก ปลายใบแหลม ฐานใบกว้าง เรียวสอบเข้าหากัน สีเขียวอ่อน เส้นใบเห็นชัดเจน 3 เส้น
มีขนปกคลุม ผิวใบทั้งสองด้าน ดอกเป็นช่อ สีขาวหรือฟ้าอมม่วง ดอกย่อย 10-35 ดอก ดอกวงนอกบานก่อน กลีบดอก หลอมรวมกันเป็นหลอด ผลขนาดเล็ก รูปร่างเป็นห้าเหลี่ยมสีน้ำตาลหรือดำ มีหนามแข็งบนเส้นของผล ส่วนปลายผลมีขนสีขาว ช่วยพยุงให้ผลและเมล็ดปลิวตามลม ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
จากงานวิจัยกรมวิชาการเกษตรพบว่า “สาบเสือ” สามารถนำมาใช้ป้องกันกำจัดหนอนใยผัก หนอนกระทู้ เพลี้ยอ่อน ด้วงถั่วเขียว ฆ่าเชื้อรา แบคทีเรียและไวรัสสาเหตุโรคพืชได้อีกด้วย มีสารออกฤทธิ์ คือ limonene, pinene และ naphthoquinone
มีวิธีการใช้ดังนี้
1) ต้นและใบ ผึ่งลมให้แห้ง บดเป็นผง แช่น้ำ 400 กรัม/น้ำ 3 ลิตร ถ้าใบอย่างเดียวใช้ 400 กรัม/น้ำ 8 ลิตร กวนตั้งทิ้งไว้ค้างคืน กรองเอากากออก นำมาฉีดพ่นทุก 7 วัน ป้องกันและไล่หนอนกระทู้ผัก หนอนใยผัก
2)นำต้นสาบเสือมา หมักด้วยเหล้าขาว 24 ชั่วโมง(500 กรัม/เหล้า 1 ลิตร)หมักค้างคืน กรองออกมานำไปพ่นป้องกันกำจัดโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราและแบคทีเรีย และหนอนใยผัก
3) ใบสด 10 กรัมผสมกับใบแห้ง 30 กรัม บดให้ละเอียด แล้วนำมาคลุกถั่วเขียว 100 กรัม สามารถป้องกันกำจัดแมลงด้วงถั่วเขียวและมอดข้าวสาร
เกษตรกรท่านใดสนใจนำ “สาบเสือ” ไปใช้ป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งจะช่วยลดการใช้สารเคมีและต้นทุนในการผลิต สามารถนำสูตรข้างต้น ไปปรับใช้ได้เลย