เริ่มฤดูเปิดไฟในสวนทุเรียนยะลา ส่งเสริมเกษตรกรใช้แสงไฟ ไล่ ล่อ แมลงผีเสื้อกลางคืน ป้องกันหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน

223637
รพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

กรมส่งเสริมการเกษตรขยายผลการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน ใช้แสงไฟไล่และล่อแมลงผีเสื้อกลางคืนในจังหวัดยะลา เชื่อเกษตรกรสามารถลดการระบาดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนได้ พร้อมชูอำเภอบันนังสตา ต้นแบบการจัดการหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนโดยวิธีผสมผสาน เผยปีที่ผ่านมาดำเนินการขยายผลทั้งจังหวัด

223638

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของจังหวัดยะลา โดยในปี 2566 มีพื้นที่ปลูก 96,234 ไร่ ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวน 89,661 ตันมูลค่ารวมกว่า 6,600 ล้านบาท มูลค่าการส่งออก ร้อยละ 54 จำหน่ายในประเทศ ร้อยละ 46 และในปี 2567 พบว่ามีพื้นที่ปลูก 105,400 ไร่และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3-5 ปีนี้ ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาทุเรียนยะลาถูกตรวจพบว่ามีการระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนทำให้ผู้ส่งออกถูกตีกลับสินค้า ส่งผลให้ทุเรียนในจังหวัดยะลาราคาตกต่ำ ทำให้เกษตรกรเสียโอกาสที่จะสร้างรายได้จากการจำหน่ายทุเรียน กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา จึงได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้กับทุเรียนจังหวัดยะลาให้เป็นที่ยอมรับ จัดทำแปลงต้นแบบการใช้แสงไฟไล่และล่อแมลงในสวนทุเรียน ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 8 อำเภอ ของจังหวัดยะลา รวม 377 แปลง และปี 2567 ได้ขยายผลแปรงต้นแบบเพิ่มในพื้นที่กลุ่มจังหวัดชายแดนใต้ซึ่งมีการปลูกทุเรียน ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดปัตตานี

223639

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า เพื่อให้การป้องกันหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนเห็นผลเป็นรูปธรรม เกษตรกรในพื้นที่เกิดการขยายผลการใช้แสงไฟสีขาวและสีเหลืองส้มไล่แมลงผีเสื้อกลางคืน และใช้ไฟสีม่วงล่อแมลงผีเสื้อกลางคืน ไม่ให้วางไข่ที่ผลทุเรียน เนื่องจากผีเสื้อกลางคืนมีหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดวางไข่และสร้างความเสียหายต่อผลผลิตทุเรียนแต่ละระยะต่างกัน เช่น หนอนกินดอก หนอนเจาะผล (Fruit borer) หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน (Durian seed borer) โดยเฉพาะอย่างยิ่งผีเสื้อหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนนั้น เมื่อระบาดจะสร้างความเสียหายกับผลผลิตทุเรียนและภาพลักษณ์ของทุเรียนทำให้ทุเรียนยะลาไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคและผู้ส่งออก กรมส่งเสริมการเกษตรโดยสำนักงานเกษตรจังหวัดยะลาจึงได้จัดกิจกรรม “แสงแรกแห่งฤดูทุเรียนยะลา ปี 2567” ขึ้น ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ตำบลตาเนาะปูเต๊ะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีการใช้แสงไฟจัดการกับหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนมาตั้งแต่ปี 2558

223640

ด้านนายอุทัย หงส์เพชร เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในอำเภอบันนังสตา กล่าวว่า ตนเป็นเกษตรกรต้นแบบซึ่งได้ริเริ่มการใช้แสงไฟจัดการกับหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของชาวสวนทุเรียน โดยทุกปีจะมีผลผลิตเสียหายจากการถูกหนอนเจาะหรือที่เรียกกันว่าทุเรียนรู ร้อยละ 15-20 ของผลผลิตที่ได้ เกษตรกรจะต้องทิ้งหรือจำหน่ายทุเรียนในราคาต่ำทำให้สูญเสียรายได้ จึงพยายามป้องกันปัญหาโดยการฉีดพ่นยาและสารเคมีแต่ผลที่ได้ไม่เป็นไปตามแผน ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นและเกษตรกรเองก็ไม่ปลอดภัยประกอบกับพื้นที่ปลูกทุเรียนเป็นพื้นที่สูงบนภูเขา ต้นทุเรียนอายุมาก ลำต้นสูง จัดการยาก ที่สำคัญสวนทุเรียนตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำของชุมชนไม่สามารถใช้สารเคมีได้

223641

“สังเกตว่าต้นทุเรียนที่อยู่ใกล้เสาไฟฟ้าริมถนน ผลผลิตเสียหายจากหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนน้อยมาก จึงคิดว่าแสงไฟน่าจะมีผลต่อหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ซึ่งแม่ของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน คือ ผีเสื้อกลางคืน ซึ่งจะบินจากพื้นดินขึ้นไปวางไข่ที่ผลทุเรียนตอนกลางคืน ดังนั้น เมื่อต้นทุเรียนอยู่ที่สว่าง การวางไข่จึงน้อยกว่าสวนทั่วไปที่อยู่ในที่มืด จากข้อสันนิษฐานดังกล่าวจึงได้เริ่มทดลองติดหลอดไฟที่ต้นทุเรียนตั้งแต่ปี 2558 พบว่าปัญหาทุเรียนรูลดลง จึงเพิ่มพื้นที่ใช้แสงไปในสวนทุเรียนทั้งหมด 15 ไร่ ปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงได้หันมาใช้แสงไฟไล่ผีเสื้อกลางคืนเพิ่มขึ้น ประมาณ 500 ไร่ ซึ่งตนได้ลองเปรียบเทียบต้นทุนการป้องกันปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในพื้นที่ 15 ไร่ โดยวิธีการใช้แสงไฟ พบว่ามีค่าใช้จ่ายเพียงแค่ 12,000 บาทต่อปี แต่หากใช้การฉีดพ่นสารเคมี จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 125,000 บาทต่อปี” นายอุทัย กล่าว

223642

สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเปิดไฟ คือ ต้องเปิดเมื่อเริ่มมืดหรือหมดแสงสว่างของกลางวันไปจนถึงเริ่มมีแสงสว่างของวันใหม่ ซึ่งเวลาโดยประมาณคือ 18.00 – 06.00 น. และต้องคำนึงถึงระยะการเจริญเติบโตของทุเรียน โดยเกษตรกรต้องเปิดไฟตั้งแต่ช่วงผลเล็ก แต่เกษตรกรในพื้นที่อำเภอบันนังสตาส่วนใหญ่เริ่มเปิดไฟตั้งแต่ช่วงดอกระยะมะเขือพวงเพื่อป้องกันหนอนเจาะดอกด้วย และเปิดไปจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิต นอกจากนี้ การใช้แสงไฟให้ได้ผลดีต้องคำนึงถึงความทั่วถึงของแสง เพราะหากมีพื้นที่ที่แสงสว่างไปไม่ถึงและบริเวณที่มีเงาจากทรงพุ่มหรือเงาจากสิ่งอื่น ๆ บังแสง ผลผลิตก็จะเสียหาย สำหรับหลอดไฟที่เกษตรกรใช้ไล่แมลงผีเสื้อกลางคืนจะใช้หลอดไส้ แสงสีขาวหรือแสงสีเหลืองส้ม ซึ่งประสิทธิภาพในการป้องกันไม่แตกต่างกัน

223643
223644
223645
223646