นายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต ที่ 6 (สวพ.6) เปิดเผยว่า มาตรการควบคุมคุณภาพทุเรียนในปี 2567 ยังเป็นไปตามข้อกำหนดเดิม นำมาตรการ “จันทบุรีโมเดล” ซึ่งสามารถควบคุมคุณภาพทุเรียนได้เป็นอย่างดีฤดูกาลที่ผ่านมา โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 คือ ใช้มาตรการตรวจก่อนตัดโดยความรับผิดชอบของกรมสิ่งเสริมการเกษตร
โดยจุดนี้ จะมีเจ้าหน้าที่จากกรมส่งเสริมการเกษตร หน่วยงานมหาวิทยาลัย หน่วยงานปกครอง สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนฯ ซึ่งได้รับการรับรอง ให้บริการตรวจสอบเปอร์เซ็นน้ำหนักแห้งทุเรียน ให้เกษตรกรก่อนตัด หากไม่ผ่านเกณฑ์จะไม่ออกใบรับรองและจะให้รอจนกว่าจะครบกำหนดจึงจะตรวจก่อนตัดอีกครั้ง
รวมทั้งการให้คำแนะนำ กำกับการรับรองการจำหน่ายผลผลิจในสำเนาใบ GAP ก่อนออกจากสวน , มาตรการตรวจวัดคุณภาพ(ตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้งฯที่โรงคัดบรรจุก่อนส่งออกโดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ซึ่งดำเนินการตรวจ 100 % ก่อนอนุญาตบรรจุ เพื่อแจ้งด่านตรวจพืชตรวจรับรองสุขอนามัยพืชตรวจสอบศัตรูพืช และเงื่อนไขตามข้อตกลงในการนำเข้าทุเรียนของจีนต่อไป
ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 จนถึงปัจจุบัน (24 มีนาคม 2567) มีการตรวจคุณภาพฯที่ล้ง ก่อนอนุญาตบรรจุ 570 ราย มีการตรวจทุเรียน 507 ตัวอย่าง โดยทุเรียนที่ตรวจผ่าน 551 ตัวอย่าง ไม่ผ่าน 19 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 3.3 ตัวอย่างที่ไม่ผ่านได้ดำเนินคัด พ่นสีแยกออกจากกระบวนการส่งออกทันที พร้อมบันทึกจัดทำประวัติเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาจัดกลุ่มคุณภาพล้ง เขียว เหลือง แดง
ส่วนเรื่องความเข้มข้นในการตรวจสอบคุณภาพในโรงคัดบรรจุ ผอ.สวพ.6 ระบุว่า กรมวิชาการเกษตรปฏิบัติงานอย่างเข้มงวดในการตรวจก่อนส่งออกทุเรียนของภาคตะวันออกเช่นเดิม ซึ่งหากเป็นล้ง ที่รับจ้างแพ็ค หรือที่เรียกกันว่า มือปืนรับจ้าง หรือล้งที่เริ่มดำเนินการ กลุ่มนี้จะเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากปี 2567 มีจำนวนล้งในจังหวัด ระยอง จันทบุรี และ ตราด ที่มาขึ้นทะเบียนการส่งออกเพิ่มขึ้นขึ้น 135 ล้ง รวมทั้งหมด 903 ล้ง (จันทบุรี 827 ล้ง / ระยอง 43 ล้ง /ตราด 24 ล้ง / สระแก้ว 2 ล้ง / ฉะเชิงเทรา 1 ล้ง /ชลบุรี 5 ล้ง
เฉพาะทุเรียน มีล้ง ที่ จ.จันทบุรี 700 ล้ง /ระยอง 41 ล้ง /ตราด 19 ล้ง /สระแก้ว 2 ล้ง /ฉะเชิงเทรา 1 ล้ง และชลบุรี 5 ล้ง)
เมื่อเปรียบเทียบจากปี 2566 ที่มี 768 ล้ง (จันทบุรี 698 ล้ง / ระยอง 58 ล้ง /ตราด 22 ล้ง / สระแก้ว 3 ล้ง / ฉะเชิงเทรา 2 ล้ง /ชลบุรี 5 ล้ง เฉพาะทุเรียน มีล้ง ที่ จ.จันทบุรี 559 ล้ง /ระยอง 35 ล้ง /ตราด 14 ล้ง /สระแก้ว – ล้ง /ฉะเชิงเทรา 2 ล้ง และชลบุรี 5 ล้ง )
ซึ่งหากล้งใดที่อยู่ในบัญชีสีเหลืองของ สวพ.6 หากปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด จะมีการพิจารณาปรับให้อยู่ในเกณฑ์สีเขียว เนื่องจากผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจ มีความตั้งใจที่จะให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาคุณภาพทุเรียนสามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องมีคุณภาพตามข้อกำหนด แต่หากล้งที่ไม่ปฏิบัติตามจะดำเนินการตามกฎหมาย
นายพิทวัฒน์ บอกเพิ่มเติมว่า ช่วงนี้มีกระแสข่าวการตัดรูดทุเรียนและมีความเสี่ยงที่จะพบทุเรียนอ่อนจำนวนมาก ข้อมูลนี้อยากให้มีการส่งหลักฐานเข้ามาที่ สวพ.6 เพื่อจะได้ดำเนินการ หากมีการตัดรูดจริง เมื่อมาถึงกระบวนการส่งออก เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบอย่างละเอียด หากพบทุเรียนอ่อนจะให้คัดแยกและฉีดพ่นสี จึงอยากให้ประชาชนมั่นใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่มีความเข้มงวดเรื่องคุณภาพการส่งออก และการตรวจสอบทุเรียน