จากการขยายผลของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการนำเข้า – ส่งออกสินค้าประมงผิดกฎหมาย กรมประมง พบบริษัทสวมสิทธิ์ปลอมใบรับรองสุขอนามัยสัตว์ (Health Certificate) จำนวน 220 ครั้ง ระบุประเภทสินค้าไม่ตรงตามความเป็นจริง รวมน้ำหนักกว่า 5,994,576 กิโลกรัม จาก 220 ตู้คอนเทนเนอร์ มูลค่าความเสียหายกว่า 1,400 ล้านบาท
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงความก้าวหน้าการดำเนินงานของหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช (ฉก.พญานาคราช) โดยมี พล.ต.ต. เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พันเอก รวิรักษ์ สัตตบุศย์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ พล.ต.ต. วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
ร่วมแถลงข่าว ที่อาคารสัปปายะสภาสถาน ถนนสามเสน กรุงเทพฯ ว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศสงครามปราบปรามสินค้าเกษตรผิดกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศเป็นอย่างมาก โดยได้แต่งตั้ง “หน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช” (ฉก.พญานาคราช) ขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนนโยบายปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย ทั้งสินค้าพืช ประมง และปศุสัตว์ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งที่ผ่านมา “ฉก.พญานาคราช” ได้ดำเนินการอย่างจริงจังและเห็นผลเป็นรูปธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การลงพื้นที่สุ่มตรวจตู้คอนเทนเนอร์ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 พบการซุกซ่อนชิ้นส่วนสุกรปะปนอยู่ภายในตู้สินค้าประมง จากนั้นเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 ได้มีการตั้ง War room โดยผู้เชี่ยวชาญจากกรมประมงและกรมปศุสัตว์ ร่วมกันตรวจสอบเอกสารประกอบการนำเข้าสัตว์น้ำของกรมประมง พบเอกสารที่มีการปลอมแปลง ได้ดำเนินการแจ้งความต่อกรมสอบสวนกลางแล้ว 20 คดี ได้แก่ 1) บริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด 2) บริษัท สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด และ 3) ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริบูรณ์ เทรดดิ้ง
ด้าน นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการนำเข้า – ส่งออก สินค้าประมงผิดกฎหมาย ตรวจพบ 1 บริษัท แต่พบความผิดปกติมากถึง 220 ครั้ง โดยเจ้าหน้าที่ได้มีการตรวจสอบใบรับรองสุขอนามัยสัตว์ (Health Certificate) ที่ผู้นำเข้าใช้ยื่นในระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อขอนำเข้า และกรมประมงได้ทำการตรวจสอบยืนยันกับประเทศต้นทาง พบว่า ใบรับรองสุขอนามัยสัตว์ (Health Certificate) ที่ประเทศต้นทางออกให้นั้น
ปรากฏว่าเป็นสินค้าคนละประเภทกับที่ผู้นำเข้าใช้ยื่นกับกรมประมง โดยปรากฎเป็นเนื้อหมู 1,859,270 กิโลกรัม/เนื้อวัว 4,135,306 กิโลกรัม จำนวน 220 ตู้คอนเทนเนอร์ รวมน้ำหนักสินค้าทั้งสิ้น 5,994,576 กิโลกรัม มูลค่าความเสียหาย 1,407,187,712 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา ได้แจ้งความต่อผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง จำนวน 1 ราย 220 คดี คือ บริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด จำนวน 4 ข้อกล่าวหา ดังนี้
ป.อาญา ฐานปลอมแปลงเอกสาร ตามมาตรา 264 ฐานใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 268 ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 137 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ ตามมาตรา 14 (1) และ (2) ได้ส่งมอบเอกสารหลักฐานทั้งหมดให้กับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง มีการออกหมายเรียกผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คดีอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน
ดังนั้น จึงขอให้ผู้เกี่ยวข้องนำพยานหลักฐานมาชี้แจงต่อพนักงานสอบสวน เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยเจ้าหน้าที่จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย นอกจากนี้ กรมประมงยังจะดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติม หากตรวจพบพฤติกรรมลักษณะดังกล่าวอีกก็จะดำเนินคดีเช่นเดียวกันต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดย “ฉก.พญานาคราช” พร้อมเดินหน้าสางปมปัญหาของเกษตรกรในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร มุ่งขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทยทั้งระบบ รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าได้อย่างมั่นคง เกษตรกรมีรายได้อย่างยั่งยืนต่อไป