กรมฝนหลวงฯ เร่งช่วยเหลือเกษตรกรประสบภาวะ “ฝนทิ้งช่วง”ช่วยพื้นที่ขาดแคลนน้ำ 24 จังหวัด

นายสำเริง แสงภู่วงค์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวถึงผลการดำเนินงานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรช่วงครึ่งปีแรก ตั้งแต่ 15 กุมภาพันธ์- 26 มิถุนายน 2565 ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงแล้ว 90 วัน รวมกว่า 1,000 เที่ยวบิน ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก

ขณะที่ “ปัญหาขาดแคลนน้ำ” โดยเฉพาะภัยแล้ง แม้ปีนี้ฝนมาเร็ว แต่ยังตกไม่ครอบคุลมทุกพื้นที่ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเข้าไปแก้ไขปัญหาควบคู่กับปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ ที่ผ่านมาเติมน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่แล้วจำนวน 12 เขื่อน และเขื่อนขนาดกลางมากกว่า 300 เขื่อนครอบคลุมทุกพื้นที่ในระยะต่อไป โดยวางแนวทางช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภาวะ “ฝนทิ้งช่วง” พร้อมย้ำแนวทางการแก้ปัญหาระยะยาว จะนำเทคโนโลยีมาเสริมเพื่อทำให้ปฏิบัติการฝนหลวงเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น

290770934 331596542495503 7206814696999810088 n
ขาดแคลนน้ำ

สำหรับประชาชนและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง หรือขาดแคลนน้ำ สามารถติดต่อกรมฝนหลวงและการบินเกษตร รวมถึงในส่วนภูมิภาคติดต่อศูนย์ปฏิบัติการทั้ง 7 แห่งทั่วประเทศ เข้าไปดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อทำให้มีน้ำต้นทุนเพียงพอใช้สำหรับอุปโภค-บริโภค และทำการเกษตรต่อไป

อธิบดีกรมฝนหลวงฯ ยังเปิดเผยอีกว่า เมื่อ 27 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น ติดตามสถานการณ์การเพาะปลูกและความต้องการน้ำในพื้นที่การเกษตรอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร โดยร่วมกับ นางวานิสสา ดวงกลาง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 25 ตำบลสว่างแดนดิน และนายชัยณรงค์ แสงชาติ อาสาสมัครฝนหลวง พบว่าขณะนี้พื้นที่ส่วนใหญ่ปลูกข้าวและอาศัยน้ำฝนในการทำการเกษตรโดยเกษตรกรในพื้นที่ได้หว่านข้าวตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ต้นกล้าเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์มาก มีสภาพค่อนข้างแคระแกรน และในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกต่อเนื่องหลายวัน ทำให้พื้นที่ลุ่มเริ่มมีน้ำขังในแปลงนาทำให้เกษตรกรบางส่วนเริ่มนำต้นกล้ามาทำการดำนาแล้ว

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ความต้องการน้ำในพื้นที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากดินยังไม่ชุ่มน้ำเท่าที่ควร และปริมาณน้ำยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของข้าวระยะกล้า ระยะเจริญเติบโต โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น จะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการวางแผนเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ยังต้องการน้ำต่อไป

นายสำเริง ได้กล่าวต่อว่า สภาพอากาศของประเทศไทยขณะนี้ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ขณะที่ลมใต้พัดปกคลุมภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก เริ่มมีกำลังอ่อนลง จากลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบริเวณพื้นที่จังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต โดยขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักที่อาจเกิดขึ้น

และจากลักษณะสภาพอากาศทางตอนบนของประเทศที่จะมีฝนลดลง สอดคล้องกับจำนวนผู้ขอรับบริการฝนหลวงทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 239 แห่ง ซึ่งวันที่ 27 มิถุนายน 2565 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 10 หน่วยปฏิบัติการ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ขาดแคลนน้ำบางส่วน จำนวน 24 จังหวัด เช่น จังหวัดลำปาง ลำพูน เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี ลพบุรี สกลนคร อุดรธานี สระแก้ว เป็นต้น และเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ จำนวน 13 แห่ง

ทั้งนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังคงติดตามสถานการณ์การเพาะปลูกและความต้องการของพืชทุกพื้นที่ทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด และขอเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศร่วมบริหารจัดการแหล่งน้ำของตนเอง ให้เพียงพอต่อการเกษตร อุปโภค บริโภคเพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา และพี่น้องเกษตรกรและประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account TikTok : @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109