กำลังจะเป็นเรื่องราว สำหรับข้าวและชาวนา เมื่อการปลูกข้าวในรอบที่ผ่านมา คำสั่งซื้อและความต้องการมีมาก จึงกลายเป็นตัวกระตุ้นทำให้ราคาข้าวดีดตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการในรอบกว่า 10 ปี จากเดิมที่ขายได้ตันละ 7,000 – 8,000 บาท ขยับขึ้นมาถึงตันละ 12,000 – 13,000 บาท / ตัน
แต่ผ่านไปได้ไม่ถึง 1 สัปดาห์ ปรากฎว่า ราคารับซื้อข้าวเริ่มขยับลงอย่างเห็นได้ชัด จนทำให้เสียงบ่นจากชาวนาเริ่มมีออกมา เพราะราวเดือนเมษายน 2567 ข้าวรอบที่ 2 จะเริ่มติดรวงให้ผลผลิต และเก็บเกี่ยวได้ แต่แล้วช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่ชาวนาจะได้รับเงินอย่างเป็นกอบเป็นกำจากการขายข้าวดูเหมือนจะมีความหวังริบหรี่
ในวงการข้าวและผู้ส่งออก ให้ข้อมูลว่า ราคารับซื้อข้าวเริ่มปรับลดลงจริง สาเหตุมาจาก 2-3 ปัจจัย คือ
-การซื้อ-ขายข้าว ในตลาดผู้ส่งออกมีการซื้อ-ขาย ก่อนหน้านี้ ทำให้ข้าวเปลือกในปัจจุบันยังไม่มีความต้องการ
-พื้นที่เพาะปลูกข้าวในภาคกลางตอนบน และภาคกลางตอนล่าง ตามการคาดการณ์ 3,026,989 ไร่ แต่มีการเพาะปลูกจริง 4,457,315 ไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 1,218,537 ไร่ (ข้อมูล กรมชลประทาน 8 มีนาคม 2567) จะเห็นว่า มีการเพาะปลูกข้าวเกินกว่าที่กรมชลประทานคาดการณ์ไว้
ในจำนวนนี้ พบว่า มีการเพาะปลูกข้าวที่ใช้พันธ์จากข้าวเวียดนาม ค่อนข้างมาก เช่น ข้าวในกลุ่มหอมพวง คือ ข้าวเบอร์ 5 / 8 / 54 / 51 / ข้าวกลุ่มนี้ มีข้อดี คือ ให้ผลผลิตดี หรือผลผลิตเกินนา อายุการปลูกสั้น ทนต่อสภาพอากาศ แต่ข้อเสีย คือ ท้องข้าวเป็นไข่(ขาวขุ่น) เมื่อนำไปสีเม็ดจะแตก โรงสี และผู้ส่งออก จึงมีคำสั่งชะลอการรับซื้อข้าวกลุ่มนี้
-เดือนเมษายน ของทุกปี จะมีผลผลิตข้าวออกมาค่อนข้างมาก และเดือนเมษายน ของทุกปี จะเป็นช่วงที่ข้าวเต็มท้องไข่ทุกพันธ์ หากพันธ์ไหนเม็ดขาวท้องไข่จะมีมากเช่นเดียวกัน
หนึ่งในโรงสีย่านภาคกลาง ให้ข้อมูลว่า ผลผลิตข้าวที่ออกสู่ตลาดในขณะนี้เป็นข้าวพันธ์ที่นำเข้าจากเวียดนาม เบอร์ 5 /8/20 และ 80 ซึ่งเป็นข้าวที่มีท้องไข่หนา นำไปสีแล้วเมล็ดแตก ปลูกกันมากในพื้นที่ภาคกลาง และในกลุ่มโรงสี เคยแจ้งให้เกษตรกรทราบแล้วว่า ไม่ควรเพาะปลูกข้าวที่มีการนำเมล็ดพันธ์ที่มีการนำเข้าจากเวียดนามมาปลูก เนื่องจากไม่เป็นที่ต้องการของโรงสีและผู้ส่งออก แต่ดูเหมือนไม่มีใครเชื่อ และยังมีการเพาะปลูกกันมากตามคำบอกเล่า โดยอ้างเรื่องคุณสมบัติทนต่อสภาพอากาศ และให้ผลผลิตต่อไร่ดีมาก
นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เปิดเผยว่า ราคาข้าวเปลือกปรับตัวลดลง เป็นเรื่องจริง โดยเฉพาะในกลุ่มข้าวที่มีการนำเมล็ดจากเวียดนามมาปลูกในพื้นที่ภาคกลาง โดยเฉพาะพันธุ์ หรือเบอร์ 20 และ 80 ในกลุ่มของสมาคมชาวนาฯ เคยแจ้งและขอความร่วมมือเกษตรกรทั่วประเทศ งดการปลูกข้าวที่นำเมล็ดพันธุ์เข้ามา เพราะจะส่งผลกระทบกับข้าวชนิดอื่นๆ ที่เป็นพันธุ์ที่ได้รับอนุญาตจากกรมการข้าว และพันธุ์ที่ผู้ส่งออกต้องการ เนื่องจากอาจจะมีข้าวในกลุ่มที่ไม่เป็นที่ต้องการปะปนเข้าไป
นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย บอกอีกว่า ได้ประสานไปทางกรมการค้าภายในให้ช่วยตรวจสอบกลไกราคาข้าวที่ปรับตัวลดลง ว่า มีปัจจัยอื่นแทรกหรือไม่ เพราะไม่อยากให้เกิดกรณีที่ราคาข้าวกำลังจะดีแต่มีปัจจัยอื่นที่เข้ามาแทรกโดยแล้วทำให้ราคาข้าวตก แต่อ้างเรื่องคุณภาพข้าวที่ไม่ผ่านเกณฑ์ของผู้ส่งออก
มีรายงานว่า การเพาะปลูกข้าว และแจ้งขึ้นทะเบียนเกษตรกร ไม่ได้มีการแจ้งลักษณะสายพันธุ์ของการปลูกในแต่ละพื้นที่ มีเพียงการแจ้งเฉพาะปลูกพืชชนิดใดเพียงอย่างเดียว จึงทำให้ไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริงว่า พันธ์ข้าวแต่ละชนิดที่นำมาเพาะปลูกในแต่ละพื้นที่มีพันธุ์ใดชนิดใดบ้าง
ขณะที่รายงานของสมาคมอาหารเวียดนาม พบว่า การส่งออกข้าวเวียดนามในปีนี้ จะอยู่ที่ประมาณ 6.5-7 ล้านตัน ซึ่งลดลงจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 8.1 ล้านตันในปีที่แล้ว
เวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจากอินเดียและไทย ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะค่อยๆ ลดปริมาณการส่งออกรวม เพื่อไปให้ความสำคัญกับคุณภาพและราคาข้าวที่สูงขึ้นแทน ขณะเดียวกันก็จะปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและรักษาระดับความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศด้วย
สอดคล้องกับที่กรมคุณภาพ แปรรูป และการพัฒนาตลาดของเวียดนาม (Department Of Quality, Processing And Market Development) รายงานก่อนหน้านี้ว่า แบรนด์ข้าวของเวียดนามในปัจจุบัน ยังไม่มีความโดดเด่นมากนัก แม้เวียดนามติดอันดับต้นๆในด้านผลผลิตเพื่อการส่งออกข้าวก็ตาม จึงจำเป็นต้องหันมาใส่ใจคุณภาพของข้าวเวียดนามมากขึ้น