พันจ่าเอก ประเสริฐ มาลัย อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า จากการที่ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรในจังหวัดอุตรดิตถ์เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2567 ณ ลานตากสหกรณ์การเกษตรตรอน จากการทึ่ได้มีเกษตรกรประสบอุทกภัยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยขอรับความช่วยเหลือ เนื่องจากกี่ทอผ้าและวัสดุอุปกรณ์การทอผ้าได้รับความเสียหายทั้งหมด จึงสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
โดยกรมหม่อนไหมได้สำรวจความเสียหายพบว่า มีน้ำเข้าท่วมโรงทอผ้าของกลุ่มทอผ้าบ้านกกต้อง หมู่ที่ 3 ตำบลฟากท่า อำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์ ทำให้กี่ทอผ้าเสียหายเป็นจำนวนมาก สมาชิกกลุ่มไม่มีความรู้ในการซ่อมบำรุงกี่ทอผ้าให้กลับมาใช้งานได้ จึงทำให้สมาชิกไม่มีกี่ใช้ในการทอผ้า ซึ่งเกษตรกรกลุ่มดังกล่าว เป็นกลุ่มที่มีการผลิตผ้าไหมที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ โดยใช้เทคนิคผสม เช่น เทคนิคการขิด การจก และการล้วง ในการผลิตผ้าจำหน่าย สร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างมาก ทั้งมีลายผ้าลายแม่ครู ซึ่งเป็นพญาแห่งผ้า ที่ทอค่อนข้างยาก ที่สมาชิกในกลุ่มยังไม่มีความถนัดในการทอให้ได้ตามต้นแบบ
กรมหม่อนไหม โดยศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ แพร่ จึงได้ดำเนินการซ่อมแซมกี่ทอผ้าและสนับสนุนเส้นไหมให้กลุ่มเกษตรกรรวมถึงได้วางแผนพัฒนากลุ่มทอผ้าบ้านกกต้อง ในการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการทอผ้าไหมอัตลักษณ์พื้นถิ่น อำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้การทอผ้าลายแม่ครูให้แก่สมาชิก และเพื่อให้สมาชิกมีความรู้ในการซ่อมบำรุงกี่ทอผ้าให้สามารถใช้งานได้ จำนวน 2 หลักสูตร ได้แก่ การฝึกอบรมหลักสูตร การดูแลรักษาและซ่อมบำรุงกี่ทอผ้า จำนวน 3 วัน ให้กับเกษตรกรจำนวน 20 ราย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งสามารถทำให้เกษตรกรมีความทักษะในการซ่อมแซมกี่ทอผ้าที่ได้รับความเสียหาย ตลอดจน สามารถซ่อมบำรุงกี่ทอผ้าได้ด้วยตนเอง
และการฝึกอบรมหลักสูตร การทอผ้าลายแม่ครู ซึ่งถือว่าเป็นลายผ้าสูงที่สุดของผ้าทั้งหมด ประกอบด้วย ลายดอกรัก ลายขอซ้อน ลายพญานาค ลายเตยปิ่น ลายเตยเกาะ ที่ผสมผสานลวดลายเข้าด้วยกันอย่างสวยงาม จำนวน 3 วัน ให้กับเกษตรกรจำนวน 30 ราย ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 14 มีนาคม 2567 ทั้งนี้ กรมหม่อนไหมได้บูรณาการร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุตรดิตถ์ และองค์การบริหารตำบลฟากท่า ตลอดจน สมาชิกกลุ่มร่วมกันแกะแบบลายผ้าพระราชทาน ผ้าลายสิริวชิราภรณ์ และต่อยอดพัฒนาการใช้สีธรรมชาติให้เกิดความสวยงามและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันสมาชิกกลุ่มได้กลับมาทอผ้าไหมได้ตามปกติ