นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำ โครงการ 76 จังหวัด 76 โมเดล การผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยมูลค่าสูง เพื่อเป็นการถอดบทเรียนแห่งความสำเร็จการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยมูลค่าสูงจากเกษตรกรต้นแบบ 76 จังหวัดทั่วประเทศ สอดรับกับหลักการ ประชาชนต้องอยู่ดีกินดี สินค้าเกษตรต้องมีความปลอดภัย มูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรต้องยั่งยืน ตามนโยบายของ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
งานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี 76 จังหวัด 76 โมเดล ในวันนี้ได้รับเกียรติจาก ว่าทีพันตรี อดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ และนายเสนีย์ ส้มเขียวหวาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ เข้าร่วมงานด้วย สำหรับการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยมูลค่าสูง เป็นโมเดลที่ชนะเลิศของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ที่ทำการคัดเลือกจากเกษตรกร 9 จังหวัด โดยใช้แนวทางตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ โมเดลที่ชนะเลิศคือ “นวัตกรรมผักอินทรีย์โมเดลสู่เศรษฐีอีสานล่าง” ของคุณศุภชัย มิ่งขวัญ ไร่ภูตะวันออร์แกนิคฟาร์ม บ้านหนองเม็ก ตำบลคึมใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งมีมูลค่าการผลิตกว่า 3.8 ล้านบาท/ไร่/ปี ไร่ ภูตะวันออร์แกนิคฟาร์ม เป็นการจัดการโดยใช้หลักการ “ตลาดนำการผลิต” โดยทำการเกษตรแบบรวมกลุ่มแบบเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อให้มีอำนาจต่อรอง
และที่สำคัญได้ให้สมาขิกในกลุ่ม ได้ปรับเปลี่ยนวิธีคิด จากการผลิตแบบพอเพียงมาทำการผลิตเชิงพาณิชย์ จากอาชีพรองมาเป็นอาชีพหลัก เข้าถึง และยอมรับนวัตกรรมสมัยใหม่ โดยเริ่มต้นทำการปลูกผักอินทรีย์ในโรงเรือน ซึ่งจะสามารถผลิตผักอินทรีย์ที่มีความปลอดภัย ส่งตลาดได้ตลอดทั้งปี ผลผลิตมีคุณภาพ สวยงาม แตกต่างจากแหล่งผลิตอื่น โดยทำการรวมกลุ่ม เพื่อรวมคน รวมพื้นที่ และรวมสินค้าเกษตรอินทรีย์ จากกลุ่มแปลงใหญ่ผลิตผักอินทรีย์ปลอดภัย บ้านหนองเม็ก มีสมาชิกจำนวน 34 ครัวเรือน สมาชิกเครือข่ายอีกจำนวน 105 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 7 อำเภอของจังหวัดอำนาจเจริญ เพื่อผลิตผักอินทรีย์ จำนวน 400 ไร่ ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระดับสากล คือ Organic Thailand และ IFOAM โดยเน้นปลูกพืชผักอินทรีย์ในโรงเรือนระบบปิด ข้างบนเป็นหลังคาพลาสติก ด้านข้างเป็นมุ้งกันแมลง โรงเรือนขนาด ความกว้าง 6 เมตร ความยาว 30 เมตร จำนวน 6 โรงเรือน/ไร่ มีการจัดทำปฏิทินการผลิตพืชของกลุ่ม ทำการปลูกพืชตระกูลสลัดเช่น กรีนโอ้ค เรดโอ้ค คอส ฟินเลย์ รวมทั้งผักสดอินทรีย์ที่ได้รับ
ความนิยมจากท้องตลาด เช่น ผักปวยเล้ง คะน้า กวางตุ้ง ฯลฯ โดยทางกลุ่มจะเน้นปลูกพืชผักสลับหมุนเวียนกันไปตามคำสั่งซื้อของลูกค้าเป็นหลัก การปลูกในโรงเรือนจะสามารถทำการผลิตได้ 6 รอบ/โรงเรือน/ปี ผักสลัดจะใช้เวลาปลูกดูแลประมาณ 45 วัน ก่อนปลูกจะต้องเพาะเมล็ดพันธุ์สลัดในเนิร์สเซอรี่ก่อน เมื่อต้นกล้าเติบโตตามที่ต้องการจึงค่อยย้ายมาปลูกในโรงเรือนอีก 30 วัน เมื่อต้นผักสลัดเติบโตเป็นสัปดาห์ที่ 5 จึงเริ่มตัดผลผลิตออกขายได้ ในสัปดาห์ที่ 6 จะเริ่มพักแปลง ประมาณ 7 วัน ก่อนลงทุนปลูกผักรอบใหม่ ระหว่างที่เตรียมแปลงปลูกรอบใหม่ สมาชิกจะเพาะกล้าพันธุ์ผักสลัดไปพร้อมๆ กัน
สำหรับแปลงเก็บเมล็ดพันธุ์ จะปลูกเฉพาะช่วงฤดูหนาว (ต.ค.-ก.พ.) 1 รอบ/โรงเรือน/ปี โดยจะทำการคัดเลือกพันธุ์ที่ต้องการจากต้นกล้าที่เพาะชำ ซึ่งภายใน 1 โรงเรือนจะทำการปลูกผักสลัดเพียงชนิดเดียวเท่านั้น หลังจากปลูกผักในแปลงประมาณ 90-100 วัน จะเริ่มเก็บเกี่ยวทั้งต้น โดยพิจารณาจากดอกที่มีลักษณะเป็นปุยนุ่นในช่อดอกประมาณ 80% ของจำนวนดอกในต้น ใช้กรรไกรตัดบริเวณโคนต้นอย่างระมัดระวัง ป้องกันเมล็ดหลุดร่วง นำเมล็ดแก่ที่ได้ ใส่ภาชนะตากแดดเพื่อลดความชื้น จากนั้นนำมาฝัดทำความสะอาด และเข้าเครื่องแยกเมล็ดอีกครั้งจากนั้นบรรจุใส่ภาชนะเก็บเข้าห้องเย็นทันที จะได้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 90-92 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งสามารถขายเมล็ดพันธุ์ได้สูงถึง 30,000 บาท/กิโลกรัม
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตร ได้มอบหมายกองวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช และ กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช เข้ามาบริการแบบเบ็ดเสร็จด้านธุรกิจเมล็ดพันธุ์ ได้แก่ พัฒนาเข้าสู่ระบบเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ อาทิ การขึ้นทะเบียนเมล็ดพันธุ์ ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 การรับรองสายพันธุ์ รับรองแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์ รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์มูลค่าสูง การยกระดับคุณภาพเมล็ดพันธุ์ด้วยการเคลือบ และพอกเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเป็นการช่วยในปรับปรุงคุณภาพเมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์
นอกจากนี้กรมวิชาการเกษตรยังได้เข้ามาสนับสนุนกิจกรรมของกลุ่มและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการจัดการศัตรูพืช โดยการใช้ชีวภัณฑ์ต่างๆ อาทิ
– ชีวภัณฑ์ Bacillus thuringiensis (BT) ในการจัดการหนอนกระทู้ผัก หนอนกระทู้หอม หนอนใยผัก –
– ชีวภัณฑ์ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทย ในการจัดการด้วงหมัดผัก
– ชีวภัณฑ์บิวเวอร์เรีย หรือเมตาไรเซียมเชี้อสด ในการจัดการเพลี้ยอ่อน
– เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีในการรองก้นหลุมป้องกันโรครากปม
– ชีวภัณฑืไตรโคเดอร์มา จัดการโรครากเน่าโคนเน่า ทำให้เกษตรกรมีความเชี่ยวชาญ มีองค์ความรู้ จนสามารถขยายผลสู่ชุมชนใกล้เคียง ครอบลุมพื้นที่ทั้ง 7 อำเภอของจังหวัดอำนาจเจริญ โดยมีสมาชิกเครือข่าย จำนวน 105 ครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูกผักอินทรีย์จำนวน 400 ไร่ มีโรงเรือนปลูกผักทั้งหมด จำนวน 305 โรงเรือน ผลผลิตผักอินทรีย์ออกสู่ตลาดเฉลี่ย 25 – 30 ตันต่อเดือน
สำหรับกิจกรรมภายในงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี 76 จังหวัด 76 โมเดล ประกอบด้วย แปลงสาธิต นิทรรศการแปลงต้นแบบระดับเขต และระดับจังหวัด จำนวน 9 ต้นแบบ กิจกรรมการเสวนาระหว่างผู้ผลิตและตลาดรับซื้อ เรื่อง “ไขความลับการผลิตพืชมูลค่าสูงสู่เศรษฐีอีสานล่าง” ฐานการเรียนรู้ โมเดลการผลิตผักอินทรีย์มูลค่าสูง จำนวน 4 ฐาน หน่วยบริการคลินิกพืชเคลื่อนที่ นิทรรศการกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ การผลิตและการใช้ชีวภัณฑ์และปุ๋ยชีวภาพในการผลิตพืช การผลิตพืชตามมาตรฐาน Organic Thailand/GAP การให้ความรู้ด้าน พรบ. ที่เกี่ยวข้องกับกรมวิชาการเกษตร และการเลือกใช้ปัจจัยการผลิตที่ถูกต้องและเหมาะสม การรู้จักดินรู้จักปุ๋ย กิจกรรม ชิม ช้อป ชม ผลิตภัณฑ์การเกษตร จากเกษตรกรต้นแบบและกลุ่ม young smart farmer และกิจกรรมแจกจ่ายพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิตให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน ได้แก่ เกษตรกร ประชาชน ข้าราชการ พนักงาน บุคลากรภาครัฐและนักเรียน นักศึกษา จำนวน 300 ราย
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า กรมวิชาการเกษตรมีความมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินโครงการ 76 จังหวัด 76 โมเดล ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยเอก ธรรมมนัส พรหมเผ่า ในการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร 3 เท่าภายใน 4 ปี โมเดล “นวัตกรรมผักอินทรีย์โมเดลสู่เศรษฐีอีสานล่าง” จะเป็นโมเดลสำหรับการผลิตผักปลอดภัยมูลค่าสูง ซึ่งที่ผ่านมา กรมวิขาการเกษตรได้มีความร่วมมือกับ กระทรวงสาธารณสุข กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิชีววิถี (Bio Thai) มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนประเทศไทย เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai PAN) และตลาดไท ในการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยจากสารเคมีเพื่อความปลอดภัยของผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โมเดลการเกษตรในวันนี้ จะเห็นผลในเชิงประจักษ์ ให้เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรสร้างอาชีพ และรายได้จากการทำเกษตรปลอดภัยมูลค่าสูง และต่อยอดการผลิตผักปลอดภัยเพื่อบริโภคสู่การเป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ เพื่อสร้างรายได้สูง และความมั่นคงยั่งยืนของเกษตรกรต่อไป