นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ประจวบคีรีขันธ์เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกมะพร้าว จำนวน 358,544 ไร่ มากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งผลผลิตมะพร้าวของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์นี้เป็นที่ยอมรับจากผู้ค้า ผู้ประกอบการ และโรงงานอุตสาหกรรม ว่าเป็นมะพร้าวที่มีคุณภาพดี มีความเหมาะสมที่จะนำมาผลิตแปรรูปเป็นน้ำกะทิ และอื่น ๆ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดจำนวนมหาศาลในแต่ละปี กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้เข้าไปพัฒนาและส่งเสริมเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ด้วยการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาปรับใช้ในการผลิตมะพร้าว เพื่อลดต้นทุน เพิ่มปริมาณผลผลิต และคุณภาพให้ได้มาตรฐานการส่งออก เพื่อยกระดับการผลิตสินค้ามะพร้าวของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ไปสู่มาตรฐานสากล
แต่จากข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์พบมีการระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าวที่สำคัญ โดยเฉพาะหนอนหัวดำมะพร้าว ที่ระบาดและขยายพันธุ์ จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดและสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งขณะนี้พบพื้นที่การระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวแล้ว จำนวน 11,934 ไร่ โดยระบาดรุนแรง จำนวน 1,265 ไร่ (ข้อมูล วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567) กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้เร่งสั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และสำนักงานเกษตรอำเภอที่พบการระบาด เร่งให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น นำศัตรูธรรมชาติของหนอนหัวดำไปปล่อยในสวนมะพร้าวของเกษตรกร ได้แก่ แตนเบียนบราคอน แตนเบียนทริคโคแกรมมา แมลงหางหนีบสีดำ แมลงหางหนีบขาวงแหวน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในทันที
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า การสร้างความยั่งยืนในการดูแลจัดการสวนมะพร้าวของเกษตรกรระยะยาว ได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าวแบบผสมผสาน โดยใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกัน เช่น วิธีกล วิธีเขตกรรม ชีววิธี และวิธีอื่น ๆ ผ่านกลไกโรงเรียนเกษตรกร เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าวแบบผสมผสานอย่างถูกวิธี ลดความรุนแรงของการระบาดไม่ให้แพร่กระจายเป็นวงกว้าง และช่วยควบคุมจำนวนประชากรของแมลงศัตรูพืชให้อยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายจนยากต่อการควบคุม พร้อมทั้งมอบหมายให้กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย ผลิตพ่อ-แม่พันธุ์ศัตรูธรรมชาติ สนับสนุนศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชผลิตศัตรูธรรมชาติชั้นขยายและศัตรูธรรมชาติพร้อมปล่อย ส่งต่อให้สำนักงานเกษตรจังหวัดที่พบการระบาดของหนอนหัวดำ และสนับสนุนให้ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ผลิตขยายศัตรูธรรมชาติพร้อมปล่อย เพื่อปล่อยในพื้นที่ที่มีการระบาดควบคู่กันไปด้วย
“นอกจากนี้ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้จัดประกวดหมู่บ้านปลอดศัตรูมะพร้าวขึ้นเมื่อปี 2565 มีชุมชน บ้านหนองไทร หมู่ที่ 6 ตำบลไร่เก่า อำเภอสามร้อยยอด ได้รับรางวัลหมู่บ้านปลอดศัตรูมะพร้าวดีเด่น มีหนองไทรโมเดล เป็นปัจจัยความสำเร็จ ได้แก่ 3ส. 3จ. 2ต. ประกอบไปด้วย 3ส. โดยผู้นำชุมชน1) ให้ความ “สำคัญ” กับการจัดการศัตรูมะพร้าว 2) “สื่อสารเชิงรุก” เพื่อให้เกษตรกรรับรู้ทันท่วงที 3) มุ่งเน้นให้เกษตรกร “มีส่วนร่วม“ในการจัดการศัตรูมะพร้าว 3จ. โดยเกษตรกรในชุมชน 1) เมื่อ “เจอ” การระบาด 2) “แจ้ง“ ให้ทีมศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนทราบ 3) “จัดการ” การระบาดทันทีเมื่อได้รับแจ้ง และ 2ต. โดยศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน 1) ทำอย่าง “ต่อเนื่อง” 2) “ต่อยอด” ขยายผลสู่หมู่บ้านใกล้เคียง
นอกจากนี้ยังใช้กลไกในการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว 4 หลัก ได้แก่ 1) เป็นแหล่งเรียนรู้ป้องกันกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าว โดยให้เกษตรกรเข้ามาศึกษาหาความรู้เพื่อไปปรับใช้ในสวนของตนเอง2) เป็นแหล่งเรียนรู้การผลิตแมลงศัตรูธรรมชาติ ให้เกษตรกรผลิตและขยายพันธุ์แตนเบียนบราคอนและแมลงหางหนีบ เพื่อนำไปปล่อยในสวนของตนเองและแปลงข้างเคียง 3) มีการแจ้งเตือนการระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าว โดยมีแปลงพยากรณ์ มีธงแจ้งเตือนการระบาดที่ ศจช. แปลงพยากรณ์ และผ่านทางไลน์ และ 4) มีทีมให้บริการ สนับสนุน ช่วยเหลือ หมู่บ้านที่พบการระบาด โดยเกษตรกรสามารถติดต่อกับทีมงานเพื่อดำเนินการจัดการได้ทันที ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้การจัดการหนอนหัวดำในระดับพื้นที่เกิดประสิทธิภาพมาก จะเห็นได้ว่าระบบการผลิตมะพร้าวในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีการผลิตและบริหารจัดการสวนที่มีประสิทธิภาพสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ มีแหล่งเรียนรู้ที่มีองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมการบริหารจัดการสวนมะพร้าว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะพร้าวของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เกิดการสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวที่เข้มแข็งและบูรณาการงานในพื้นที่ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้และมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว