สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงบ้านโพนฮาด ตำบลดงครั่งน้อย อำเภอเกษตรวิสัย
ในการนี้นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมด้วย นายกิตติพันธ์ จันทาศรี ผู้อำนวยการกองส่งเสริมโครงการพระราชดำริ การจัดการพื้นที่และวิศวกรรมเกษตร นายกมล โสพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่น นายสันติภาพ โทนหงส์สา เกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด นายธนศักดิ์ วิวัฒนวานิช ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการพระราชดำริ และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ และทูลเกล้าถวายเล่มรายงานผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
กรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินงานสนองพระราชดำริ โครงการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 จนถึงปัจจุบัน มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมด 285 ราย ในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองร้อยเอ็ด เกษตรวิสัย จตุรพักตรพิมาน พนมไพร และอำเภอเสลภูมิ สมาชิกของกลุ่มมีการดำเนินกิจกรรม ด้านการเกษตร ด้านหัตถกรรม และด้านการจัดทำบัญชี ผลการดำเนินงานในภาพรวม เมื่อเทียบกับก่อนเริ่มดำเนินงานโครงการฯ พบว่า กลุ่มส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน ทั้ง 5 กลุ่ม มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนจากเดิม 5,675 บาท เป็น 7,775 บาท เพิ่มขึ้น 2,100 บาท/เดือน หรือคิดเป็นร้อยละ 37 สามารถลดรายจ่ายต่อครัวเรือนจากเดิม 4,785 บาท เป็น 3,685 บาท ลดลง 1,100 บาท/เดือน หรือคิดเป็นร้อยละ 23 สมาชิกของกลุ่มทั้ง 5 กลุ่ม มีเงินออมภายใต้การดำเนินงานโครงการฯ รวมจำนวน 624,907 บาท สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีคุณภาพชีวิตและภาวะโภชนาการที่ดีขึ้นสมาชิกที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง และโรคตับแข็งมีแนวโน้มไม่เพิ่มขึ้น เกิดเป็นชุมชนเข้มแข็งอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ทั้งนี้ มีปัจจัยแห่งความสำเร็จของกลุ่ม ได้แก่ สมาชิกกลุ่มมีความสามัคคี มีความเข้มแข็ง มีการบริหารจัดการกลุ่มที่ดี และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต นอกจากนี้ ยังมีแผนการดำเนินงานในระยะต่อไป ดังนี้ 1) พัฒนาสินค้าเข้าสู่มาตรฐาน GAP ให้มากขึ้น 2) รับสมาชิกใหม่ในชุมชนเพิ่มตามความสมัครใจและขยายผลสู่พื้นที่นอกชุมชน รวมทั้งให้บุตรหลานของสมาชิก เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม 3) เพิ่มศักยภาพของผู้นำและสมาชิกให้มีความรู้และทักษะในด้านต่างๆ เพิ่มมากขึ้น และ 4) รักษาประสิทธิภาพของหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงให้มีความต่อเนื่อง และเป็นหมู่บ้านที่ขับเคลื่อนกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ