กรมประมงร่วมกับหน่วยงาน Australian Fisheries Management Authority (AFMA) เครือรัฐออสเตรเลีย จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “The 2nd Workshop on the Innovation of Fisheries Monitoring, Control, and Surveillance (MCS) Analytics, and Utilization for Fisheries Analyst” ระหว่างวันที่ 19 – 23 กุมภาพันธ์ 2567 ณ สำนักงานฝ่ายฝึกอบรม ศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จังหวัดสมุทรปราการ โดยเป็นการฝึกอบรมเกี่ยวกับดำเนินการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำการประมง (MCS) เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ด้าน MCS จากเครือรัฐออสเตรเลียโดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ และการวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมได้ เพื่อนำมาเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้าน MCS
ดร.ถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะโฆษกกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงไทยได้ดำเนินการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (Monitoring, Control, and Surveillance : MCS) ภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังการทำการประมง หรือศูนย์ FMC ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของกรมประมงในการตรวจสอบ ติดตามเรือประมง และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2560 เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้าน MCS ของประเทศไทย โดย MCS ประเทศไทยได้มีมาตรการครอบคลุมตั้งแต่เรื่องการตรวจสอบ ณ ท่าเทียบเรือ การตรวจสอบกลางทะเล การเฝ้าระวังโดยอากาศยานไร้คนขับ และการเฝ้าระวังทางไกลผ่านเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้แก่ ระบบติดตามเรือประมง (Vessel Monitoring System: VMS) ระบบ Electronic Monitoring System (EM) และระบบ Electronic Reporting System (ERS)
ในขณะเดียวกัน เครือรัฐออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีการดำเนินการตามมาตรการ MCS มาอย่างยาวนาน รวมทั้งได้มีความร่วมมือกับรัฐที่เกี่ยวข้อง และองค์กรระดับภูมิภาค/ระหว่างประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ประสบการณ์จากเครือรัฐออสเตรเลียจะสามารถสนับสนุนประเทศไทยในการดำเนินการตามมาตรการ MCS และสามารถสร้างแฟ้มคดีที่มีประสิทธิภาพเพื่อการพิจารณาคดีในชั้นศาลได้
ดังนั้น กรมประมงจึงได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ให้กับข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมประมงที่ปฏิบัติงานด้าน MCS จำนวน 25 ราย ร่วมกับหน่วยงาน Australian Fisheries Management Authority (AFMA) เพื่อให้สามารถต่อยอดองค์ความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติงานด้าน MCS เสริมสร้างความรู้จากการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้าน MCS ได้แก่ 1) การวิเคราะห์และการใช้งานระบบ GPS เพื่อสนับสนุนการจัดทำหลักฐานสำหรับการดำเนินคดีในชั้นศาล 2) มาตรฐานสากลของระบบการติดตามเรือ VMS และ AIS 3) มาตรฐานสากลในการใช้งานระบบการเฝ้าติดตามอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring System : EM) ฟังก์ชั่น ที่เป็นประโยชน์ในเรือประมงและการประเมินความเสี่ยง และ 4) มาตรฐานสากลสำหรับผู้สังเกตการณ์บนเรือ (Observer Onboard) อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported, and Unregulated Fishing : IUU) ระหว่างกรมประมงไทยและหน่วยงาน AFMA เครือรัฐออสเตรเลียอีกด้วย