“สหกรณ์ที่เข้มแข็งก็จะไปเสริมในสิ่งที่เขาขาดและต่อยอดให้เข้มแข็งมากขึ้น ส่วนสหกรณ์ที่อ่อนแอเราก็จะมีคณะผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาศึกษาว่าแต่ละแห่งต้นเหตุและปัญหาเกิดจากอะไร บางแห่งไม่ได้เกิดจากการทุจริตแต่เกิดจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของสหกรณ์”
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวถึงนโยบายการพัฒนาสหกรณ์คุณภาพในโอกาสครบรอบ 108 ปี สหกรณ์ไทยว่าในปี 2567 การดำเนินงานจะเดินไปในแนวทางนี้ โดยจะมุ่งสร้างสหกรณ์คุณภาพเพื่อประโยชน์สู่สมาชิกสหกรณ์โดยรวม ซึ่งจากการสรุปตัวเลขจำนวนสหกรณ์มีจำนวนลดลงนั้นไม่ใช่ปัญหาในการพัฒนางานสหกรณ์ แต่เป็นการลดลงเพื่อให้ได้สหกรณ์ที่มีคุณภาพ โดยกรมจะสนับสนุนสิ่งที่สหกรณ์ขาด อาทิ อุปกรณ์การตลาด องค์ความรู้ใหม่ ๆ การเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อให้เกิดการขายผลผลิตเพิ่มขึ้น รวมกับการแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลผลิตของสมาชิก เป็นต้น
ส่วนสหกรณ์ที่อ่อนแอขาดทุนสะสมมาหลายปี ก็จะมีคณะผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาศึกษาว่าแต่ละแห่งมีต้นเหตุและปัญหาเกิดจากอะไร ซึ่งบางแห่งไม่ได้เกิดจากการทุจริต แต่เกิดจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของสหกรณ์ เช่นการให้เงินกู้แก่สมาชิกเกินกว่าสมาชิกจะชำระหนี้ได้ โดยมุ่งหวังที่จะได้รายได้กลับมาสู่สหกรณ์ แต่กลับเป็นว่าจ่ายไปแล้วเกิดหนี้เสียกลายเป็นหนี้สูญ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายของสหกรณ์ ซึ่งปัญหาตรงนี้มีประมาณร้อยละ 40-50 ของสหกรณ์ที่มีปัญหา
อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ยังกล่าวถึงวิธีแก้ปัญหาหนี้เสียสหกรณ์ว่าจะเดินหน้าเร่งติดตามหนี้อย่างเดียวไม่ได้แต่ต้องสร้างอาชีพคู่ขนานกันไปด้วยเพื่อสร้างรายได้แก่สมาชิก โดยอาจจะต้องสร้างรายได้รายวัน รายเดือน รายปีโดยรายวันนั้น อาทิ การปลูกพืชผักสวนครัวต่าง ๆ เพื่อให้เขามีรายได้ ลดรายจ่ายในครัวเรือน นอกจากนี้ กรมยังร่วมกับหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ เช่น ร่วมกับกรมพัฒนาที่ดินในการขุดสระให้กับสมาชิกสหกรณ์เพื่อเลี้ยงปลาและปลูกพืชระยะยาว เช่น ปลูกไม้ผลบริเวณขอบสระ รวมทั้งปลูกไม้ยืนต้นอย่างยางนาไว้ขายคาร์บอนเครดิตในอนาคต ส่วนสหกรณ์ที่ขาดทุนสะสมจำนวนมากยากที่จะเยียวยาจนไม่อาจฟื้นคืนได้ก็จะนำเข้าสู่กระบวนการชำระบัญชีเพื่อเลิกกิจการโดยเฉลี่ยหนี้ให้กับเจ้าหนี้ แต่ตัวสมาชิกจะชำระได้ไม่เกินทุนหุ้นหรือทรัพย์สินที่มีอยู่ในสหกรณ์
“เงินฝากสหกรณ์ส่วนใหญ่เป็นของสมาชิกสหกรณ์ก็เฉลี่ยกันไปอาจจะได้ไม่เต็มจำนวน โดยสมาชิกไม่ต้องรับผิดชอบหนี้ส่วนอื่นยกเว้นหุ้นตัวเองในสหกรณ์ แต่ถ้าสมาชิกมีหนี้กับสหกรณ์ก็ต้องชำระหนี้นั้นด้วย” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ระบุ
อย่างไรก็ตามจากข้อมูลปี 2562 มีสหกรณ์ทั้งหมด 8 พันกว่าแห่ง ขณะนี้เลิกกิจการไปเหลือเพียง 6,200 กว่าแห่ง ช่วงเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา สหกรณ์ส่วนหนึ่งเข้าสู่กระบวนการชำระบัญชีและเคลียบัญชีให้กับเจ้าหนี้ลูกหนี้และผู้ถือหุ้น สำหรับสหกรณ์ที่เหลืออยู่ในปัจจุบันกว่า 6,200 แห่งนั้นได้ผ่านการตรวจสอบเป็นที่เรียบร้อยว่าสามารถดำเนินงานได้ปกติไม่มีปัญหา จากนี้ไปก็จะพัฒนาให้โตขึ้น มีศักยภาพมากขึ้นสร้างความเชื่อมั่นเชื่อถือให้กับผู้ถือหุ้น ผู้ฝากเงินและผู้มีส่วนได้เสียกับสหกรณ์
“ผมเน้นเรื่องคุณภาพและการตั้งสหกรณ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะเน้นคุณภาพมาเป็นอันดับหนึ่งไม่ใช่ตั้งตามความต้องการแบบฉาบฉวยของประชาชน เช่น ตั้งเพื่อรองรับเงินที่จะได้จากรัฐบาลพอได้เงินแล้วก็ทิ้งสหกรณ์ ไม่ได้ตั้งจากความต้องการอย่างแท้จริงตั้งขึ้นมาเพียงแค่ต้องการเงิน เป็นต้น”
นายวิศิษฐ์ย้ำว่า ต่อไปนี้การจะตั้งสหกรณ์ขึ้นมาสักแห่งสมาชิกจะต้องผ่านการฝึกอบรมเรียนรู้การทำงานกระบวนการสหกรณ์ก่อนอย่างน้อย 6 เดือน โดยในระหว่างนี้จะมีการทดลองกิจกรรมต่าง ๆ เช่น มีการประชุมกลุ่ม ประชุมคณะกรรมการ มีการระดมทุน ถือหุ้นเป็นรายเดือน ตลอดจนการค้าการขาย โดยการทำกิจกรรมกลุ่มทุกครั้งจะต้องมีคนมาร่วมเกินร้อยละ 80 นายทะเบียนจึงจะรับจดทะเบียนตั้งสหกรณ์ให้เพื่อให้เขาดำเนินการต่อไปได้
“ที่จริงหลักเกณฑ์หลักการเรื่องการจัดตั้งสหกรณ์นี้เป็นแนวทางมาตั้งแต่อดีต 108 ปีที่แล้ว เมื่อครั้งที่พระบิดาสหกรณ์ไทยจดทะเบียนจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นมา แต่บางครั้งเกิดเหตุการณ์บางอย่างต้องรีบตั้งสหกรณ์เพื่อจะรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล หลังจากได้เงินแล้วทุกคนก็แยกย้ายมันก็เกิดความล้มเหลวทำให้เราเห็นสหกรณ์ร้างเลิกไปพันกว่าแห่ง” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว
อย่างไรก็ตามผลจากการคุมเข้มดังกล่าว ล่าสุด ปี 2566 มีการจดทะเบียนจัดตั้งสหกรณ์เพียง 50 กว่าแห่งเท่านั้นจากเดิมแต่ละปีมีไม่ต่ำกว่า 300-400 แห่ง ขณะเดียวกันจะมีการติดตามการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาและก้าวไปสู่ความมั่นคงยั่งยืนต่อไป ตามนโยบายของนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่กล่าวไว้เมื่อครั้งประชุมมอบนโยบายให้กับสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ