นางสาวนฤมล สงวนวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ภายใต้หัวข้อ Enhancing ASEAN Agrobiodiversity Use and Landscape Biodiversity จัดโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับสมาคมวิจัยเกษตรนานาชาติเพื่อความมั่นคงทางอาหารในอนาคต (CGIAR) โดยมี ดร. วนิดา กำเนิดเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ นางสาวหลี่ เฮ่อ นักทรัพยากรธรรมชาติ จาก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ดร.แดนนี่ ฮันเตอร์ นักวิทยาศาสตร์อาวุโส จาก CGIAR เจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำหรับสัมมนาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ให้ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมกันอภิปรายพร้อมแลกเปลี่ยนความเห็นในการสร้างความสมดุลระหว่างการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพของโลกกับการผลิตอาหารให้เพียงพอต่อภูมิภาคอาเซียนซึ่งสามารถช่วยให้เกิดความมั่นคงทางอาหารอันเป็นประโยชน์แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน
ผู้ช่วยปลัดเกษตรฯ กล่าวว่า ปัจจุบันการเติบโตอย่างรวดเร็วของประชากร ถือเป็นการสร้างบุคลากรที่มีคุณค่าต่อโลกแต่ต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการดำรงชีพเช่นเดียวกัน ซึ่งประเทศไทยตระหนักถึงปัจจัยดังกล่าว จึงต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาที่อาจส่งผลเสียต่อระบบนิเวศในระยะสั้นและระยะยาว อาทิ สภาพอากาศแปรปรวน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำเกษตรกรรม เป็นต้น ซึ่งหลักสำคัญที่จะช่วยให้สังคมมนุษย์อยู่อย่างยั่งยืน ได้แก่ การสร้างสมดุลระหว่างความหลากหลายทางชีวภาพ ทางการเกษตร การใช้ที่ดิน และการผลิตอาหาร ทั้งนี้ ประเทศไทยได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และมีแผนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย (Thailand’s SDG Roadmap) ที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้ กระทรวงเกษตร ฯ มีนโยบายการจัดการทรัพยากรทางการเกษตร ทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Go Green) เพื่อสนับสนุนแผนระดับชาติ และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในปี 2030
สำหรับหัวข้อการอภิปรายในวันนี้ มี 3 หัวข้อ ได้แก่ 1) the ASEAN-CGIAR Innovate for Food and Nutritional Security Regional Program 2) Overview of Agrobiodiversity Mainstreaming across Agriculture Sectors in Thailand: Status, barriers and opportunities. 3) The Nutritional Value of Agrobiodiversity and INMU’s role in IP3 พร้อมทั้ง มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับอุปสรรค โอกาส และการปรับปรุงความหลากหลายทางชีวภาพทางการเกษตร รวมถึงความร่วมมือกันในอนาคตอีกด้วย