กรมประมง ร่วมกับ Centre For Environment, Fisheries and Aquaculture Science (Cefas) แห่งสหราชอาณาจักร จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “Thailand Shrimp Health Workshop” หนุนสร้างความร่วมมือระหว่างกันในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ รวมถึงหารือถึงแนวทางการปรับปรุงระบบการเฝ้าระวังโรค การตรวจวิเคราะห์ และการจัดการสภาวะฉุกเฉินกรณีเกิดโรคอุบัติใหม่ในกุ้งทะเล
โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่กรมประมงที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพสัตว์น้ำ ผู้แทนสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ตลอดจนผู้แทนสถาบันการศึกษาต่าง ๆ รวมกว่า 40 คน ณ ห้องประชุมพะยูน อาคารจุฬาภรณ์ กรมประมง ในระหว่างวันที่ 15 – 16 กุมภาพันธ์ 2567
นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมดังกล่าวฯ ว่า “กุ้งทะเล” เป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยในอดีตสามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศปีละเกือบแสนล้านบาท เนื่องจากเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ เกษตรกรจึงมีการเพาะเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย จนกระทั่งในปี 2555 ประเทศไทยได้ประสบวิกฤตการระบาดของโรคตายด่วน หรือ EMS-AHPND ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมกุ้งทะเลอย่างรุนแรง จากสถานการณ์ในครั้งนั้น จึงทำให้กรมประมงได้ตระหนักถึงความสำคัญในการจัดการปัญหาโรคระบาดในสัตว์น้ำทุกชนิด โดยเฉพาะกุ้งทะเล เพื่อลดโอกาสและความเสี่ยงในการเกิดโรคให้มากที่สุด ซึ่งปัจจุบันผลผลิตกุ้งทะเลส่งสัญญาณการมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยจากข้อมูลในปี 2565 มีปริมาณผลผลิต 389,656 ตัน และในปี 2566 ผลผลิตเพิ่มขึ้น 394,391 ตัน
สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการ“Thailand Shrimp Health Workshop” เป็นหนึ่งในโครงการที่อยู่ภายใต้ความร่วมมือด้านการเกษตรของไทยกับสหราชอาณาจักร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร และประเทศในภูมิภาคอาเซียน ในด้านสุขภาพสัตว์น้ำ โดยมุ่งเน้นสุขภาพกุ้งทะเล อันเป็นปัจจัยที่สำคัญในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทั่วโลก อีกทั้งยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพผลผลิต และศักยภาพการผลิตของประเทศ
รองอธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมครั้งนี้จึงเป็นโอกาสให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของกรมประมง รวมถึงบุคคลภายนอกที่มีความรู้และเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสัตว์น้ำ และสุขภาพกุ้งทะเลของไทย จำนวนกว่า 40 คน ได้พัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพกุ้งทะเล ด้วยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ จากหน่วยงานของ Cefas ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสัตว์น้ำและสุขภาพกุ้งทะเล สถานการณ์โรคอุบัติใหม่ในกุ้งทะเลของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และการใช้เทคโนโลยีจีโนมในสุขภาพกุ้งทะเล เพื่อร่วมกันหาแนวทางการจัดการสุขภาพกุ้งที่ดี ตลอดจนส่งเสริมการวิจัยและความร่วมมือในการจัดการโรคอุบัติใหม่ อีกทั้งสร้างโอกาสในการเป็นหุ้นส่วนด้านการวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำระหว่างไทยและสหราชอาณาจักรในอนาคตอีกด้วย