ทส.แจงประกาศกำหนดมาตรฐาน”เตาเผาศพ” หวังลดมลพิษ-รักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะชุมชนใกล้วัดที่ได้รับผลกระทบ หลังช่วงโควิด-19ระบาดหนัก หลายวัดเผาศพเยอะจนชาวบ้านร้องเรียนจำนวนมาก ส่วนนอกเขตเทศบาลเมือง ผ่อนปรนให้ 3 ปี
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า ปัญหาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเขม่าควันและกลิ่นจากการเผาศพมีอยู่เป็นระยะ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งมีการเผาศพจำนวนมากและมีการเผาพร้อมกันหลายวัด
บางวัดเตาเผาศพยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานทำให้ประชาชนโดยเฉพาะในเขตชุมชนได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นจากการเผาศพได้แก่ กลิ่น ควัน รวมถึงฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และขี้เถ้าจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง ซึ่งมาจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์หรืออุณหภูมิไม่สูงพอ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนและมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในชุมชนใกล้เคียง สำหรับองค์ประกอบของกลิ่นเผาศพจะประกอบด้วยก๊าซหลายชนิด เช่น แอมโมเนีย ไฮโดรเจนซัลไฟด์ เมอร์แคปแทนและฟอร์มาลดีไฮด์จากนํ้ายารักษาศพ เป็นต้น
นายอรรถพล กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมมลพิษ เห็นสมควรปรับปรุงการกำหนดให้เตาเผาศพ เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ ที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 68 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535
โดยได้ประสานงานพร้อมประชุมรับฟังความคิดเห็นกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและจากทุกภาคส่วนและเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดให้เตาเผาศพเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสีย ออกสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2565 เมื่อวานนี้ (วันที่ 22 มิถุนายน 2565)
โดยประกาศนี้ให้ใช้บังคับกับเตาเผาศพในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา เขตเทศบาลนครและเขตเทศบาลเมือง ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และในเขตพื้นที่อื่นให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 3 ปี นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
และในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าความทึบแสงของเขม่าควันจากปล่องเตาเผาศพ พ.ศ. 2565 กำหนดค่าความทึบแสงของเขม่าควันไว้ดังนี้
– พื้นที่กรุงเทพฯ เมืองพัทยา เทศบาลนคร และเทศบาลเมือง ต้องไม่เกิน ร้อยละ 10 และเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ต้องมีค่าไม่เกินร้อยละ 7
-ในพื้นที่อื่น ต้องไม่เกิน ร้อยละ 7 เมื่อพ้นกำหนด 3 ปี นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ปัจจุบันมีจำนวนวัดทั่วประเทศทั้งหมด 42,655 วัด มีจำนวนเตาเผาศพประมาณ 25,500 เตา เป็นเตาเผาศพในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เทศบาลนคร และเทศบาลเมือง ประมาณ 8,000 เตา และเป็นเตาเผาศพในพื้นที่อื่น ประมาณ 17,500 เตา
และจากการสำรวจของ คพ. พบว่าเตาเผาศพในกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่สามารถควบคุมมลพิษได้ตามมาตรฐานอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นเตาเผาแบบ 2 ห้องเผาแล้ว และผู้ควบคุมเตาเผาศพปลอดมลพิษ จะต้องมีการควบคุมอุณหภูมิตลอดการเผาศพให้สูงกว่า 800 องศาเซลเซียส ซึ่งหากมีการจัดการและควบคุมเตาที่ดีจะสามารถเผาและทำลายสารมลพิษทางอากาศ รวมทั้งควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรคและไม่สร้างผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน นายอรรถพล กล่าว
รายละเอียดตามประกาศราชกิจจานุเบกษา :
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/141/T_0007.PDF
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/141/T_0008.PDF