นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวว่าในช่วงเกือบ 2 ทศวรรษ ที่ผ่านมาสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) ได้ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ในการพัฒนาพื้นที่สูงด้วยหลักและวิธีการทำงานแบบโครงการหลวง ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2512 และได้ดำเนินงานเกิดผลสำเร็จจนเป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในระดับนานาชาติ โดย สวพส.ได้มุ่งดำเนินภารกิจสำคัญ อย่างครบวงจร คือ การวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมสำหรับใช้พัฒนาพื้นที่สูง การดำเนินงานพัฒนาบนพื้นที่สูงอย่างกว้างขวาง เพื่อแก้ไขปัญหาที่สำคัญ ๆ โดยเฉพาะความยากจน การเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยมีอุทยานหลวงราชพฤกษ์เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ
สวพส. ได้ให้ความสำคัญในงานด้านการพัฒนา โดยปัจจุบันได้ดำเนินงานครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 2,000 กลุ่มบ้าน จากพื้นที่สูงทั้งหมดที่มีจำนวน 4,205 กลุ่มบ้าน ทั้งการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ การอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ภายใต้ความร่วมกับหน่วยงานต่างๆ และประชาชน โดยนำหลัก วิธีการปฏิบัติงาน และองค์ความรู้โครงการหลวง ไปประยุกต์ใช้ในบริบทต่างๆ ของพื้นที่ และการแก้ไขปัญหาที่หลากหลาย โดยเฉพาะปัญหาความยากจน การขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการพื้นฐานของรัฐ และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การสูญเสียพื้นที่ป่า การเผาและฝุ่นควัน การเสื่อมโทรมของดินและน้ำและผลกระทบจากการใช้สารเคมีทางการเกษตร เป็นต้น โดยมีแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) เป็นกรอบในการดำเนินงาน และใช้องค์ความรู้ ผลงานวิจัย เทคโนโลยีดิจิทัล และคณะทำงานบูรณาการในระดับพื้นที่ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ
ผลการดำเนินงานในปัจจุบันได้สร้างประโยชน์และการเปลี่ยนแปลงที่ดีแก่พื้นที่เป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน คือประชาชนมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี ควบคู่กับการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โดยได้รับรางวัลที่เลิศรัฐสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี 2566 “Best of the Best” ภายใต้ชื่อผลงาน “คู่วิถีชุมชนอยู่ร่วมกับป่าสมบูรณ์ ตอบโจทย์พื้นที่สูง” ที่ดำเนินการในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง 10 แห่ง ของ 5 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน แม่ฮ่องสอน และกาญจนบุรี ซึ่งเป็นรูปแบบของแก้ไขปัญหาและพัฒนาเชิงพื้นที่ อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ คือ การแยกพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรออกจากกัน แล้วทำการยกระดับการประกอบอาชีพด้วยการปรับการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการเกษตรแบบประณีตที่ให้ผลตอบแทนสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับส่งเสริมชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และยังดำเนินการงานพัฒนาในรูปแบบ วิถีชุมชนอยู่ร่วมกับป่าสมบูรณ์ ตอบโจทย์พื้นที่สูง ในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงอีก 33 แห่ง ของ 8 จังหวัด
ดังนั้น สวพส.จึงมีเป้าหมายขยายผลสำเร็จข้างต้น ไปแก้ไขปัญหาสำคัญบนพื้นที่สูง ที่สร้างผลกระทบและความเสียหายต่อประเทศ เช่น ปัญหาความยากจน และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพื้นที่สำคัญๆ เช่น พื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ บ้านหนองเขียว จังหวัดแม่ฮ่องสอน และบ้านห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน เป็นต้น