กทม. จับมือ กรมวิชาการเกษตร เล็งใช้สารชีวภัณฑ์ทางการเกษตรย่อยสลายตอซังข้าว ลดการเผา ลด PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ
วันที่ 4 ม.ค. 67 นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร (Chief Sustainability Officer) พร้อมด้วยผู้แทนกรมวิชาการเกษตร สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักพัฒนาสังคม สำนักงานเขตหนองจอก ลงพื้นที่สังเกตการณ์ทดลองใช้สารชีวภัณฑ์ทางการเกษตร ย่อยสลายตอซังและฟางข้าวในแปลงนาทดแทนวิธีการเผาในที่โล่ง เพื่อลดการปล่อย PM 2.5 จากภาคการเกษตร ณ แปลงนาพื้นที่ 3 ไร่
โดยแปลงดังกล่าวเป็นของ นายประเสริฐ ภู่เงิน เกษตรกรในพื้นที่เขตหนองจอก ซึ่งเป็นแปลงนาสาธิตของกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับการสนับสนุนสารชีวภัณฑ์ทางการเกษตร หรือหัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ทำปุ๋ยหมัก จากกรมวิชาการเกษตร เพื่อเป็นแนวทางให้แก่เกษตรกรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในการจัดการตอซังและฟางข้าวแทนการเผา
ได้มีการหารือถึงความร่วมมือการดำเนินงานระหว่างกรุงเทพมหานคร และกรมวิชาการเกษตร รวมถึงเกษตรกรในพื้นที่ที่สำรวจพบว่ามีการเผาในที่โล่งจากภาคการเกษตร ได้แก่ พื้นที่เขตหนองจอก เขตคลองสามวา เขตลาดกระบัง และการสาธิตวิธีการใช้สารชีวภัณฑ์ทางการเกษตร ย่อยสลายตอซังและฟางข้าว โดยการผสมหัวเชื้อจุลินทรีย์และน้ำ ฉีดพ่นทั่วบริเวณแปลงนาที่มีตอซังและฟางข้าว จากนั้นใช้รถขลุบย่ำเพื่อให้ตอซังข้าวล้มลงราบกับพื้น และสังเกตการณ์สภาพแปลงนาในระยะเวลา 7 วัน หากตอชังและฟางข้าวย่อยสลาย เกษตรกรสามารถเข้าสู่ขั้นตอนการเตรียมดินปลูกได้ตามปกติ
ทั้งนี้หากเกษตรกรในพื้นที่กรุงเทพมหานครให้ความร่วมมือและใช้วิธีการดังกล่าวในการจัดการตอซังและฟางข้างแทนการเผา จะทำให้สามารถลดการปลด PM 2.5 จากภาคการเกษตรได้อย่างเป็นรูปแบบต่อไป