กรมประมง…ย้ำชัด “ยี่สก” ต้องไม่หายไปจากลุ่มน้ำโขงจัดทีมตั้งแคมป์รวบรวมพ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติเพื่อเร่งเพิ่มผลผลิตลูกพันธุ์ปล่อยฟื้นคืนสมดุลสู่ระบบนิเวศอย่างยั่งยืน

กรมประมง เร่งฟื้นฟูทรัพยากรปลายี่สกในแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา หลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้แหล่งที่อยู่อาศัย วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อนเสื่อมโทรมลง โดยได้จัดทีมตั้งแคมป์ริมฝั่งแม่น้ำโขงเพื่อรวบรวมพ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติ และสร้างธนาคารน้ำเชื้อเพื่อการผสมเทียม พร้อมทั้งปรับเทคนิคการปล่อยช่วยเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรม หวังเร่งเพิ่มผลผลิตทรัพยากรปลายี่สกในแหล่งน้ำธรรมชาติกว่า 1 แสนตัวต่อปี

C995B059 699E 4412 A604 3C3C9FF0F33F scaled
นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง


นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า “ปลายี่สก” หรือ “ปลาเอิน” (Probarbus jullieni Sauvage, 1880) เป็นปลาน้ำจืดมีเกล็ดขนาดใหญ่พบประจำถิ่นในแม่น้ำโขง จัดเป็นปลาที่มีรสชาติดี เป็นที่นิยมของผู้บริโภค ทำให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ราคาจำหน่ายสูงถึงกิโลกรัมละ 200 – 250 บาท แต่ปัจจุบันพบว่า ปลายี่สกในแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขามีปริมาณลดลงจนเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศในแม่น้ำโขง ส่งผลให้แหล่งที่อยู่อาศัย วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อนเสื่อมโทรมลง กรมประมงจึงได้ดำเนินการเพาะขยายพันธุ์เพื่อเป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรปลายี่สกในพื้นที่แม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์ด้วยเทคนิคการผสมเทียมพ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2517

DSC 0079 scaled
กรมประมง…ย้ำชัด “ยี่สก” ต้องไม่หายไปจากลุ่มน้ำโขง

นอกจากนี้ ยังได้จัดทีมตั้งแคมป์ริมฝั่งแม่น้ำโขงด้วยการให้ชุมชนประมงเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการเพื่อเฝ้าสังเกตการณ์และรวบรวมพ่อแม่พันธุ์ปลายี่สกที่ว่ายขึ้นมาวางไข่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ระหว่างเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ ของทุกปี โดยจะนำแม่พันธุ์ปลาที่มีความพร้อมมาฉีดกระตุ้นการวางไข่และเก็บน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ปลาไว้ใช้สำหรับรอการผสมเทียม

DSC 1041 42 scaled
กรมประมง…ย้ำชัด “ยี่สก” ต้องไม่หายไปจากลุ่มน้ำโขง

สำหรับในปีงบประมาณ 2567 กรมประมงได้ดำเนิน “โครงการเพาะพันธุ์ปลายี่สก (ปลาเอิน) ในแม่น้ำโขงเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่แม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา” ตามแผนพัฒนาด้านการประมงในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2566 – 2570 โดยให้ความสำคัญกับการเก็บรักษาน้ำเชื้อปลายี่สกไว้สำหรับใช้ผสมเทียม เนื่องจากโอกาสที่ชาวประมงจะจับพ่อแม่ปลาได้พร้อมกันมีน้อยมาก บางครั้งจับแม่ปลาที่มีไข่แก่ได้แต่ขาดน้ำเชื้อจากพ่อปลา ในทางกลับกันบางครั้งจับพ่อปลาที่น้ำเชื้อมีความพร้อมแต่แม่ปลายังไม่พร้อมวางไข่ ทำให้ต้องเสียน้ำเชื้อปลาไป ดังนั้นจึงได้มีการจัดตั้งธนาคารเชื้อพันธุ์ (Sperm bank) เพื่อใช้ในการเก็บรักษาน้ำเชื้อให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ โดยน้ำเชื้อแช่แข็งนี้สามารถเก็บรักษาได้นานหลายปี ซึ่งปัจจุบันธนาคารเชื้อพันธุ์ปลายี่สก มีอยู่จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ กองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมุกดาหาร

DSC 0270 scaled
กรมประมง…ย้ำชัด “ยี่สก” ต้องไม่หายไปจากลุ่มน้ำโขง

และเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา กรมประมงยังได้รับการสนับสนุนชุดเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับเก็บรักษาน้ำเชื้อสัตว์น้ำแช่แข็ง จากศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) อีกจำนวน 2 ชุด โดยได้ดำเนินการติดตั้งไว้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเชียงใหม่ (ศพจ.เชียงใหม่) และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมุกดาหาร (ศพจ.มุกดาหาร) ซึ่งทั้ง 2 แห่ง ถือเป็นศูนย์กลางของหน่วยงานการเพาะสัตว์น้ำของกรมประมงในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้น ในกรณีที่แม่ปลามีไข่แก่พร้อมผสมพันธุ์ แต่ขาดน้ำเชื้อนั้นก็จะสามารถนำน้ำเชื้อจากธนาคารเชื้อพันธุ์นั้นมาใช้ผสมเทียมได้ทันที โดยการดำเนินงานด้านธนาคารเชื้อพันธุ์ยังช่วยป้องกันการสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะปลายี่สกไทย ซึ่งนับวันจะลดน้อยถอยลง และยังเป็นการดำรงรักษาสายพันธุ์แท้ดั้งเดิมได้อีกด้วย โดยในปีงบประมาณ 2567 กรมประมงได้ตั้งเป้าหมายในการเก็บรักษาน้ำเชื้อปลายี่สกไทยไว้ในธนาคารเชื้อพันธุ์ จำนวนไม่น้อยกว่า 300 หลอด และเร่งดำเนินงานในการผลิตลูกพันธุ์ปลายี่สกไทยขนาด 2 – 3 เซนติเมตร จำนวน 100,000 ตัวเพื่อปล่อยคืนสู่แม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2567 นี้

DSC 0167 scaled
กรมประมง…ย้ำชัด “ยี่สก” ต้องไม่หายไปจากลุ่มน้ำโขง

รองอธิบดีกรมประมง กล่าวถึงกระบวนการผสมเทียมว่า ทางศูนย์ฯ จะนำน้ำเชื้อตัวผู้แช่แข็งที่เก็บรักษาไว้ในไนโตรเจนเหลว อุณหภูมิ-196 องศาเซลเซียส ที่อยู่ในธนาคารน้ำเชื้อ (sperm bank) มาผสมพันธุ์กับไข่ของแม่พันธุ์ปลา ด้วยชุดเพาะฟักเคลื่อนที่เป็นโรงเพาะฟักไข่ปลาเคลื่อนที่ขนาดเล็ก (Mobile Hatchery) จากนั้นจึงแบ่งลูกปลาออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกปล่อยคืนกลับลงสู่แม่น้ำโขง เพื่อคงความหลากหลายทางพันธุกรรมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน อีกส่วนหนึ่ง จำนำกลับไปอนุบาลที่ศูนย์วิจัยของกรมประมงเพื่อสร้างพ่อแม่พันธุ์ประชากรยี่สกที่คงความหลากหลายทางพันธุกรรมไว้ให้มากที่สุด และนำลูกปลาที่เหลือไปใช้ในกิจกรรมอื่น ๆ ต่อไป

DSC 0802 scaled
กรมประมง…ย้ำชัด “ยี่สก” ต้องไม่หายไปจากลุ่มน้ำโขง

กรมประมง เชื่อมั่นว่า “โครงการเพาะพันธุ์ปลายี่สก (ปลาเอิน) ในแม่น้ำโขงคืนสมดุลระบบนิเวศแม่น้ำโขง” จะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ช่วยเสริมศักยภาพให้ทรัพยากรปลายี่สกในลุ่มน้ำโขงกลับมาคงความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งในอนาคตกรมประมงมีแผนในการนำไปต่อยอดใช้กับสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เพื่อคืนความสมดุลให้กับระบบนิเวศอย่างยั่งยืนสืบไป

DSC 0982 scaled
กรมประมง…ย้ำชัด “ยี่สก” ต้องไม่หายไปจากลุ่มน้ำโขง