นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมส่งเสริมการเกษตรขับเคลื่อนการผลิตขยายชีวภัณฑ์ (เชื้อจุลินทรีย์และแมลงศัตรูธรรมชาติ) ในการส่งเสริมให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยถ่ายทอดความรู้และสนับสนุนให้เกษตรกรสมาชิกศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ที่มีอยู่ 3,566 ศูนย์ทั่วประเทศ ร่วมกันช่วยเหลือแนะนำ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาศัตรูพืชแก่พี่น้องเกษตรกร ซึ่งตลอดปี 2566 นั้น หนึ่งในพืชสำคัญที่กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการอารักขาพืชอย่างเป็นระบบก็คือมะพร้าว ที่ได้มีการผลิตขยายแตนเบียนแมลงดำหนามมะพร้าว จำนวน 15,300 มัมมี่ และแมลงหางหนีบสีดำสำหรับควบคุมแมลงดำหนามมะพร้าว และหนอนหัวดำมะพร้าว อีกจำนวน 150,000 ตัว รวมทั้งผลิตสื่อรณรงค์เรื่องการจัดการศัตรูมะพร้าวให้แก่เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตภาคใต้ที่เคยพบการระบาดของศัตรูมะพร้าวและสร้างความเสียหายในวงกว้าง
สำหรับในปี 2567 นี้ กรมส่งเสริมการเกษตร วางแนวทางดำเนินงานอารักขาพืชอย่างต่อเนื่อง โดยสร้างการรับรู้แก่เกษตรกรผ่านสื่อต่าง ๆ อย่างทั่วถึง ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ครอบคลุมทุกภูมิภาค จำนวน 9 ศูนย์ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก ชัยนาท สุพรรณบุรี ชลบุรี ขอนแก่น นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี และจังหวัดสงขลา ผลิตขยายปัจจัยควบคุมศัตรูพืช ทั้งเชื้อจุลินทรีย์และแมลงศัตรูธรรมชาติ สนับสนุนให้แก่เกษตรกรในพื้นที่รับผิดชอบ ภายใต้โครงการส่งเสริมการใช้ชีวภัณฑ์และแมลงศัตรูธรรมชาติทดแทนสารเคมีทางการเกษตร และโครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร
นอกจากนั้น ในพื้นที่ที่มีการปลูกมะพร้าวเตรียมวางแผนผลักดันให้ ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ในพื้นที่ ร่วมกันผลิตขยายแตนเบียนบราคอนเป็นประจำในทุกเดือน เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่ที่พบการระบาด ประกอบกับให้จัดตั้งทีมเพื่อช่วยเหลือให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในการป้องกันการระบาดของศัตรูพืช
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากกรมส่งเสริมการเกษตรจะวางแนวทางและมาตรการในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชสำหรับปี 2567 แล้ว สำหรับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกมะพร้าวสำคัญของประเทศนั้น ยังได้กำชับให้เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การระบาดของศัตรูมะพร้าวอย่างต่อเนื่อง และให้รายงานข้อมูลมายังกรมส่งเสริมการเกษตรทราบทุกสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำให้เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวหมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะศัตรูมะพร้าวสำคัญ 2 ชนิด ได้แก่ หนอนหัวดำและแมลงดำหนาม เพื่อป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าวได้อย่างทันท่วงที และลดความเสียหายที่จะส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิต รายได้ และพื้นที่ปลูกโดยรวมของภาคการเกษตรไทย ทั้งนี้ ปัจจุบันในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์พบการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวแล้วในพื้นที่ 9,946.50 ไร่ และแมลงดำหนามมะพร้าว 7,438 ไร่ จากพื้นที่ปลูกมะพร้าวในจังหวัดรวม 368,358 ไร่