เจ้าของล้งส่งออกทุเรียน แจ้งความดำเนินคดีถูกแอบอ้างบริษัทส่งออกทุเรียนไปญี่ปุ่น ใช้ DOA โดยไม่ได้รับอนุญาต ยันไม่เคยค้าทุเรียนกับบริษัทดังกล่าว สงสัย DOA ถูกสวมสิทธิหรือไม่
กรณีนายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ทำหนังสือแจ้งเตือนการตรวจพบสารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ไปยังบริษัท ไทย ชิ เอ็กซ์พอร์ต จำกัด โดยระบุว่า กรมวิชาการเกษตร ได้รับแจ้งจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ตรวจพบสาร Procymidone ปริมาณ 0.02 ppm ในทุเรียนสด เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 โดยมีโรงคัดบรรจุ บริษัท ไทย ชิ เอ็กซ์พอร์ต จำกัด มีเลข DOA ปรากฏในการส่งออก และใช้ใบ GAP ของเกษตรกรรายหนึ่ง ซึ่งพบปัญหาด้านความปลอดภัยอาหาร หรือการแจ้งเตือนจากประเทศผู้นำเข้า จึงแจ้งเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร
ล่าสุด น.ส.อรไพลิญญ์ ธนดลโอฬาร กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยชิเอ็กซ์พอร์ต จำกัด ให้สัมภาษณ์ว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับบริษัทของตน ยืนยันว่า ไม่ใช่ผู้ส่งออกทุเรียนล็อตดังกล่าวไปญี่ปุ่น และไม่เคยคัดบรรจุทุเรียนส่งออกให้กับบริษัท นำเข้าจากญี่ปุ่น และบริษัทส่งออกจากประเทศไทย จึงสงสัยว่า DOA ล้งตัวเอง และใบ GAP สวนปรากฎการส่งออกทุเรียนไปที่ประเทศญี่ปุ่นได้อย่างไร
น.ส.อรไพลิญญ์ ระบุว่า เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2566 มีลูกค้ามาซื้อทุเรียนที่ บริษัท ไทย ชิ เอ็กซ์พอร์ต จำกัด (สาขาหลังสวน) จ.ชุมพร จำนวน 500 กิโลกรัม และไม่ได้รับบรรจุให้ เพราะลูกค้าจะนำไปขายเอง กระทั่งมาทราบอีกครั้งว่ามีหนังสือแจ้งเตือนจาก กรมวิชาการเกษตร แจ้งไปล้ง บริษัท ไทย ชิ เอ็กซ์พอร์ต จำกัด (สาขาจันทบุรี) ยังสงสัยว่า สาขาจันทบุรีไม่ได้เปิดทำการจึงเกี่ยวอะไรด้วยกับทุเรียนที่ถูกแจ้งเตือน
“ ปกติเราต้องออกหนังสือรับรองโรงคัดบรรจุให้กับบริษัทที่ใช้โรงงานเราผลิตให้ด้วย แต่ไม่ได้ออกให้กับบริษัทนี้ เรามีล้ง 3 สาขา คือที่ จ.จันทบุรี 2 สาขา จ.ชุมพร 1 สาขา อดคิดไม่ได้ว่า มีการสวม DOA เพื่อการส่งออกหรือไม่ เพราะช่วงเวลาที่ขายทุเรียนเป็นช่วงทุเรียนใต้ออก และเราก็เปิดล้งที่สาขา จ.ชุมพร แห่งเดียวเท่านั้น แต่กลับมีหนังสือแจ้งเตือนมาที่ สาขาจันทบุรี ” เจ้าของล้ง บริษัท ไทยชิ เอ็กซ์พอร์ต จำกัด กล่าว พร้อมระบุว่า จะไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ซื้อและบริษัท ที่ปรากฏว่าเป็นผู้ส่งออกแล้วมีการนำ DOA ของล้งไปใช้เพื่อการส่งออกโดยไม่ได้รับอนุญาต เพราะทำให้เกิดความเสียหายกับทางบริษัท
ด้านนายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าว ออกหนังสือแจ้งเตือนไปตามชื่อ บริษัท ที่ปรากฏตามเอกสาร ว่า มีการส่งทุเรียนไปยังประเทศปลายทาง ซึ่งผู้ประกอบการที่ถูกกล่าวอ้างมีการนำ DOA ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งความร้องทุกข์ แล้ว ทำเรื่องอุธรณ์กลับมาที่กรมวิชาการเกษตรได้